เปิดมุมซ่อนมลพิษที่เมืองชลฯ ผลพวงกิจการ “รีไซเคิล” โดยทุนจีน (1) (12 ก.พ. 67)


 

 

 

เหม็นจนแสบจมูกและแสบตาไปหมด...คือสัมผัสแรกที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเราจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ลงพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชนของประเทศสิงคโปร์ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังมีการแจ้งจากชาวบ้านว่า โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี กลับมาประกอบกิจการทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยพบว่ามีคนงานบางส่วนกำลังทำงาน มีรถบรรทุกขนของเข้าออก และมีเสียงดังรบกวนชุมชนใกล้เคียง

 

 


 

จากการเดินสำรวจพบว่า ภายในพื้นที่ทั้งหมด 88 ไร่ มีโกดังโรงงานรวมประมาณ 27 แห่ง พิจารณาจาก “ข้าวของ” ที่พบเห็น ทำให้เข้าใจได้ว่า การประกอบกิจการส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้น่าจะเป็นการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีการหลอมโลหะต่างๆ ด้วย เนื่องจากพบทั้งตัว “ผลิตภัณฑ์” ก้อนใหญ่กองโต รวมทั้งพบกระทะเหล็กขนาดใหญ่ที่ใช้ในการหลอมเอาโลหะจนก้นทะลุวางทับซ้อนกันจำนวนมาก นอกจากนั้น ภายในโรงงานยังมีบ่อน้ำเสียหลายบ่อหลายขนาดที่ไม่มีระบบจัดการและการบำบัด อันเป็นที่มาของกลิ่นเหม็นจนเกิดอาการแสบจมูกและแสบตาระหว่างเดินสำรวจ น้ำเสียเหล่านี้ไหลนองไปตามพื้นที่ภายในโรงงาน และยังปล่อยให้รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกที่เป็นเขตพื้นที่ชุมชนด้วย

 

 

 

 

ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่เคยร้องเรียนเรื่องมลพิษฝุ่นและกลิ่นเหม็นจากโรงงานดังกล่าวมาเป็นระยะ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีจึงได้สั่งระงับการประกอบกิจการ พร้อมดำเนินคดี 17 คดี ฐานลักลอบเปิดโรงงานและขยายโซนต่างๆ โดยยังไม่ได้รับอนุญาต 
 

 

ในขณะที่คนไทยในพื้นที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการดังกล่าว แต่เจ้าของกิจการโรงงานแห่งนี้เป็นคนจีน ส่วนคนงานเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และทำงานในกิจการที่อาจเป็นอันตรายโดยไม่มีเครื่องป้องกันอันตราย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสและสะสมสารอันตรายในร่างกาย จากการสำรวจเบื้องต้น สถานประกอบการแห่งนี้ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเดือดร้อนรุนแรงขึ้นแก่ชุมชนใกล้เคียง และมีสภาพแวดล้อมภายในสถานประกอบที่ไม่เหมาะสมจนอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนงานภายในโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานควรมีตรวจสอบ

 

 

 


อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจนก็คือ การกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งอุตสาหกรรมจังหวัด เรื่องการให้หยุดประกอบกิจการ และการประกอบกิจการโดยไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ส่งก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เนื่องจากขณะนี้มีพื้นที่เกษตรของประชาชนที่เริ่มได้รับความเสียหายจากน้ำเสียที่รั่วไหลออกมา

 

 


 

ภาพทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการท้าทายกฎหมายไทยของเจ้าของกิจการต่างแดน และยังทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า ประเทศไทยเราควรจะต้อนรับและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลและการหลอมโลหะ-อโลหะ จริงหรือ โดยยอมแลกกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่ดีของชุมชนท้องถิ่น การมีโรงงานเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเป็นเพราะนโยบายส่งเสริม BCG โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยหรือไม่ ???

 

ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ