เปิดคลิปการเผชิญหน้า เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม (8 ก.พ. 67)
งานรับฟังความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ปิดกั้นทางเข้างาน คือสาระหลักที่พบได้ในคลิปวิดีโอที่กลุ่มชาวบ้านจาก 3 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ. ปลวกแดง จ. ระยอง และกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมใน จ. ชลบุรี ได้นำเสนอให้ผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้รับชมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการเล่าย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2566 ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ของโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมของบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งแต่ละบริษัทจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ รายละ 1 แห่ง ในเขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี
เวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจัดโดยบริษัท ทีแอลทีคอลซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของทั้ง 3 บริษัท และจัดพร้อมกันในคราวเดียว ณ เขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ โดยมีการจัดกำลังชายฉกรรจ์หลายสิบคนตั้งแถวปิดกั้นบริเวณถนนทางเข้า เมื่อชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านโครงการเดินทางมาถึงก็มีบุคคลซึ่งระบุว่าเป็นผู้ประสานของโครงการเข้าสกัดไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น ด้วยเหตุผลว่ามีการถือป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ ในที่สุดทางกลุ่มปราจีนเข้มแข็งและผู้คัดค้านที่อยากเข้าร่วมเวทีการรับฟังฯ จึงได้ไปจัดเวทีคู่ขนานที่บริเวณหน้านิคมฯ ไฮเทค ท่ามกลางความกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะสถานที่มีสภาพรกร้างและเปลี่ยว
สุเมธ เหรียญพงษ์นาม ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มปราจีนเข้มแข็งกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “เราคิดว่าการละเมิดสิทธิครั้งนี้มันรุนแรงที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น ไม่เคยเห็นการรับฟังความเห็นที่ต้องใช้ผู้คนมากขนาดนี้ คำว่ารับฟังความคิดเห็นมันชัดเจน ว่ามันคือความคิดเห็นแค่นั้นเอง มันไม่ใช่การออกรบ แล้วเมื่อมันไม่ใช่การออกรบที่ต้องไปฟันแทง มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้กองกำลังลักษณะนี้ ใช้ปกครองก็ได้ หรือเอา รปภ. มา หรือตำรวจมา แต่ถ้าเราดูจากในคลิป มันมีการโต้เถียงยั่วยุ ให้เกิดการขัดแย้งตีกัน หรือการใช้กำลังต่อกัน เขาพยายามทำให้ฝ่ายชาวบ้านผิด เพราะถ้าชาวบ้านผิด เขาจะได้รับความชอบธรรมไปโดยปริยาย”
อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนไว้ ความว่า “การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ...”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าเหล่านี้มีกำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ จึงไม่อยู่ในบังคับตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ที่จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือ EHIA แต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการศึกษาและจัดทํารายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) ตามที่ กกพ. กำหนด ซึ่งตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทําความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม 2565 ข้อ 13 ระบุว่า
“ให้ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตดําเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็น ดังต่อไปนี้ ...(1) จัดเตรียมสถานที่จัดเวทีให้สามารถรองรับผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น... (7) เปิดโอกาสผู้เข้าร่วมเวทีได้แสดงความเห็นและเหตุผลประกอบอย่างเท่าเทียม”
ทั้งนี้ ในเอกสารที่ทางกลุ่มปราจีนเข้มแข็งได้ยื่นต่อ กกพ. ได้ระบุข้อกังวลเรื่องความไม่ชอบธรรมและการบิดเบือนการแสดงความคิดเห็นในเวทีแสดงความคิดเห็น 5 ประการ ดังนี้
1. ในขณะลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมเพื่อนของเราบางรายมีการเขียนกํากับว่า “ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” แต่ทีมงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทแอบใช้ปากกาลบคําผิดลบข้อความแสดงความคิดเห็นออก โดยให้เหตุผลว่าห้ามกรอกข้อความใด ๆ นอกเหนือจากรูปแบบที่บริษัทกําหนด หากกรอกจะถูกควบคุมตัวให้ออกจากที่ประชุมทันที ทําให้เพื่อนของเราบางรายถูกชายชุดดํากดดันให้ออกจากที่ประชุมด้วย
2. ในระหว่างแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม จะมีชายฉกรรจ์ชุดดํายืนประกบด้านหลังอยู่ตลอด ถ้าหากเพื่อนของพวกเราแสดงความคิดเห็นเชิงคัดค้าน ชายชุดดําก็จะยิ่งเดินเข้ามาประชิดตัวทางด้านหลังเพิ่มมากขึ้น
3. บริษัทอนุญาตให้พวกเราพูดแสดงความคิดเห็นได้เพียง 3 นาทีเท่านั้น ทั้งยังห้ามไม่ให้พวกเราตบมือ ห้ามไม่ให้เพื่อนเราขอความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วยกัน ห้ามไม่ให้พวกเราส่งเสียงแสดงความรู้สึกยินดี-ยินร้าย
4. ภาพบรรยากาศที่ประชุมคล้ายกับอยู่ในสนามรบ มิใช่อยู่ในพื้นที่เปิดกว้างเตรียมพร้อมสําหรับการรับฟังความเห็น เนื่องจากจะมีกลุ่มชายชุดดํายืนกระจายตัวทั่วบริเวณพื้นที่จัดงาน มีโล่ปราบจลาจล มีรถน้ำ 2 คัน คล้ายกับการเตรียมพร้อมฉีดใส่กลุ่มผู้แสดงความเห็นต่าง (ผู้คัดค้านโครงการ) ทั้งยังมีการเตรียมกําลังตํารวจไว้ที่ อบต. ลาดตะเคียน กว่า 1 กองร้อย
ทางด้าน ดร.วัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กกพ. ได้ตอบประเด็นข้อกังวลเรื่องชายชุดดำตามภาพที่ปรากฏว่า
“ในเรื่องชายชุดดำ หรือกองกำลัง ระเบียบของเรา บอกตรงๆ ว่าเราไม่ได้เขียนลึกไปถึงรูปแบบวิธีการ การที่เขาจัด รปภ. ในการอำนวยความเรียบร้อยก็เป็นสิทธิที่เขาจัดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ต้องไม่ใช้กำลังความรุนแรง ต้องไม่กีดกันที่จะให้เข้าไปประชุม เขาอาจไม่ผิดกฎหมายนี้ แต่เขาอาจไปผิดกฎหมายอื่น แต่เราต้องไปพิสูจน์ให้ได้ การพิสูจน์เป็นสิ่งสำคัญ โอเคชาวบ้านก็มีฤทธิ์มีสิทธิทุกอย่างครบ บริษัทแจ้งมาสิ ต่อสู้มา เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เวลาบอร์ดเขาพิจารณา เขาจะฟังของบริษัทด้วย ฟังของชาวบ้านด้วย เรามีภาพเคลื่อนไหว บริษัทมีไหมภาพเคลื่อนไหว เหตุการณ์ก่อนที่จะถึงวันนี้ ขอดูทุกซีรีย์หน่อยสิ ก่อนหน้านี้มันมีอะไร เวลาพิจารณาเขาไม่ได้ดูบางคลิปบางชิ้น เขาดูทั้งหมดด้วย แต่ให้สบายใจว่าสิ่งที่ชาวบ้านเสนอมาจะนำเสนอให้บอร์ด กกพ. ได้เห็น”
กรณีนี้จึงเป็นเรื่องยาวที่ยังต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าดุลพินิจของ กกพ. จะออกมาในรูปแบบใด หลังว่าสังคมไทยจะไม่ต้องยอมรับกับบรรทัดฐานใหม่ที่ยอมให้เรื่องของกองกำลังและการปิดกั้น กลายเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับการรับฟังความคิดเห็น!
ชมคลิปเหตุการณ์ https://www.facebook.com/EarthEcoAlert/videos/408616228282978