เปิดพื้นที่เรียนรู้ การต่อสู้กับมลพิษโรงงานรีไซเคิลของชุมชนห้วยน้ำพุ (2 ก.พ. 67)

 

 

 

(2 กุมภาพันธ์) กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ จังหวัดราชบุรี และประชาชนตำบลน้ำพุ ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีการต่อสู้และปกป้องสิ่งแวดล้อมของชาวตำบลน้ำพุ ซึ่งต้องเผชิญกับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสียของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด มายาวนานกว่าสองทศวรรษ โดยมีชาวบ้าน เยาวชน และกลุ่มนักเรียน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

 

 

โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ ป่าชุมชนเขาล้อมรั้ว ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสวนลำไยของ ธนู งามยิ่งยวด ซึ่งถูกผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานจนต้องสูญเสียสวนลำไยไป ผืนดินแห่งนี้มี “ห้วยน้ำพุ” ลำน้ำธรรมชาติที่มีตาน้ำผุดตลอดปีไหลผ่าน และเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคมายาวนาน ปัจจุบัน ห้วยน้ำพุกลายสภาพเป็นแหล่งน้ำเปื้อนมลพิษ และผืนดินก็ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม

 

 

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมมากว่า 20 ปี จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งถือเป็นการฟ้อง “คดีแบบกลุ่ม” ด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกของประเทศไทย 

 

 

 

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า เส้นทางการต่อสู้กว่าสองทศวรรษเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวน้ำพุทุกคน แกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง และการเดินหน้าต่อสู้อย่างต่อเนื่อง 

 

“การต่อสู้ของชาวบ้านน้ำพุส่งผลให้เกิดการขนย้ายกากสารเคมีออกจากพื้นที่ ซึ่งกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นของเสียอันตราย หลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และหลายชนิดสามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ หากไม่มีการขนย้ายออกก็จะส่งผลกระทบกับชุมชนในระยะยาว ยาวนานไปถึงชั่วลูกหลาน เนื่องจากสารบางชนิดสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน 

 

“ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำสัญญาว่าจ้างให้ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ทำการขนย้ายกากสารเคมีที่อยู่บนพื้นดินออกจากโรงงานของแวกซ์ กาเบ็จ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่มีแผนเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมอีกมากที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งประเมินกันว่าน่าจะมีถึง 100,000 ตัน ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือต้องร่วมมือกันติดตามต่ออย่างต่อเนื่องว่าจะจัดการกับกากสารเคมีที่เหลืออยู่อย่างไร ไม่เช่นนั้นชุมชนจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย”

 

 

 

 

ทั้งนี้ในงานยังมีจุดให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชบำบัด ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยทำแปลงทดลองปลูกพืชอายุสั้นเพื่อลดการสะสมของสารพิษในลำห้วยน้ำพุ เช่น ต้นเตยหอม และบัว ระยะทางประมาณ 270 เมตร โดยตั้งเป้าว่าอีกประมาณ 2-3 เดือน จะนำพืชเหล่านี้ไปตรวจวิเคราะห์ว่าแต่ละชนิดมีศักยภาพในการดูดซับสารพิษจากลำห้วยน้ำพุมากน้อยเพียงใด 

 

การทำแปลงทดลองปลูกพืชดูดซับสารพิษนี้ เป็นความพยายามในการฟื้นฟูลำห้วยน้ำพุของชาวบ้าน หลังจากรอมานานกว่า 3 ปี แต่ยังไม่มีการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วย แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อม ตามที่ศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพที่ปลอดภัย และดำเนินการกับบริษัทผู้ก่อมลพิษให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

 

 

 

ด้าน ธนู งามยิ่งยวด ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่มีกิจกรรมในวันนี้ ที่สำคัญคือมีเยาวชนเข้าร่วมเรียนรู้ นอกจากกลุ่มนักเรียนแล้ว ยังมีเด็กๆ ในชุมชนด้วย อยากส่งต่อเรื่องราวการต่อสู้นี้ให้กับเด็กรุ่นหลัง อย่างน้อยๆ อยากให้มาเห็นและรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชุมชนห้วยน้ำพุ”