ตรวจสอบโรงงานรีไซเคิล ต.เขาหินซ้อน หลังชาวบ้านร้องปัญหาคุณภาพน้ำกระทบพื้นที่เกษตร (30 ม.ค. 67)

ฉะเชิงเทรา - อำเภอพนมสารคาม นำทีมตรวจสอบโรงงานรีไซเคิล ต.เขาหินซ้อน 
หลังชาวบ้านร้องเรียนปัญหาคุณภาพน้ำ พบค่าความเป็นกรดสูง กระทบพื้นที่เกษตรกรรม

 

 

 

 

(30 มกราคม) อำเภอพนมสารคามนำคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ภายในโรงงานของ บริษัท ซี ที สตีล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการรีไซเคิลและหล่อหลอม ตั้งอยู่ที่ ม.1 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร้องเรียนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนชาวบ้านผู้ร้องเรียนและทีมงานของเครือข่ายผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของชาวบ้าน ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบภายในครั้งนี้เจอการข่มขู่ด้วยข้อหา “บุกรุก” จากฝ่ายโรงงาน

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.1 ต.เขาหินซ้อน เนื่องจากพบว่าน้ำในนาข้าวและแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรมีความผิดปกติ และคาดว่าอาจจะเกิดจากการประกอบกิจการของโรงงานของบริษัท ซี ที สตีล จำกัด จึงขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น 

 

 

 

 

โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นของเครือข่าย ทสม. ฉะเชิงเทรา พบว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำใกล้โรงงานมีความเป็นกรดสูง เครือข่าย ทสม. ฉะเชิงเทรา จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นที่มาของการตรวจสอบการประกอบกิจการภายในโรงงานโดยอำเภอพนมสารคามและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้

 

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของโรงงานได้ข่มขู่ชาวบ้านและทีมงานของเครือข่ายผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ต้องการเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบโรงงานของเจ้าหน้าที่ ในข้อหา “บุกรุก” ตัวแทนชาวบ้านและทีมงานของเครือข่ายฯ ทั้งหมดจึงเปลี่ยนเป็นการสำรวจพื้นที่รอบโรงงานที่ได้รับผลกระทบและเก็บภาพถ่ายเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป 

 

ผลการเดินสำรวจพบว่า โรงงานมีการประกอบกิจการรีไซเคิลและการหล่อหลอมวัสดุบางชนิด โดยพบเห็นกลุ่มควันสีเหลืองพวยพุ่งออกจากปล่องภายในโรงงาน ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ และผลจากการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา พบว่า มีค่ากลิ่นแปลกปลอมในอากาศสูงสุดถึง 664 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ชาวบ้านคนหนึ่งที่ร่วมเดินสำรวจด้วยเล่าว่า “กลิ่นที่ได้รับในวันนี้ ไม่ใช่ลักษณะกลิ่นตามปกติ แต่เป็นกลิ่นที่คล้ายกับว่ามีน้ำหอมผสม” 

 

 

 

 

กลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกันสำรวจพื้นที่เกษตรที่อยู่ใกล้รั้วโรงงาน ยังพบความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ คือ

???? ต้นยางในสวนยางพาราใบร่วงจนหมดต้น ในอดีตสวนยางแห่งนี้เจริญเติบโตได้ดี แต่ปัจจุบันนอกจากใบร่วงจากต้นจนหมดแล้ว ปริมาณน้ำยางจากต้นยางยังลดน้อยลงด้วย

???? ต้นข้าวในนาข้าวไม่งอกงาม ปัจจุบันไม่สามารถทำนาในพื้นที่นี้ได้ดังเดิม เนื่องจากที่นาบางแปลงปลูกข้าวไม่ขึ้น หรือในแปลง ต้นข้าวงอก แต่ได้ผลผลิตไม่ดี เนื่องจากดินมีสภาพความเป็นกรดสูง

???? ต้นยูคาลิปตัสยืนต้นตาย สวนยูคาลิปตัสที่อยู่ติดกับฝั่งโรงงานในระยะ 100 เมตร พบบางส่วนยืนต้นตาย และบางส่วนต้นไม่โตตามวัย

 

นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน ซึ่งมีพื้นที่เลี้ยงวัวหนึ่งแห่ง และพบว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีแม่วัวตัวหนึ่งแท้งลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่พบข้อมูลในเวลาต่อมาว่า ชาวบ้านได้นำวัวตัวดังกล่าวไปเลี้ยงในบริเวณที่ดินมีความเป็นกรดสูง และสันนิษฐาน สิ่งนี้น่าจะเป็นสาเหตุของการแท้งของแม่วัวตัวนี้

 

 

 

 

ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

 

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เคยเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินภายใน บริษัท ซี ที สตีล จำกัด ต.เขาหินซ้อน ตามที่ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเครือข่าย ทสม. จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายหลังจากที่เกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อน ผลการวิเคราะห์พบว่า ตัวอย่างน้ำใต้ดินจากบ่อสังเกตการณ์ภายในโรงงานแห่งนี้ มีบางรายการที่มีค่าสูงเกินมาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในทางวิชาการสำหรับการป้องกันด้านสาธารณสุขและการป้องกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2551 เช่น เหล็ก (Fe) และแมงกานีส (Mn) นอกจากนี้ยังพบว่า การประกอบกิจการของโรงงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อน และยังตรวจพบว่าภายในโรงงานมีการวางวัตถุดิบและกากของเสียไว้บนลานดินกลางแจ้ง ทำให้กากของเสียบางส่วนไหลลงบ่อน้ำฝนของโรงงานด้วย จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ อันเป็นที่มาของการร้องเรียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าตรวจสอบพื้นที่ภายในโรงงาน 

 

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำรายงานเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยมีข้อเสนอแนะว่า บริษัท ซี ที สตีล จำกัด 1) ควรดำเนินการกำจัดกากของเสียให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันมิให้การปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดินและชั้นน้ำใต้ดินแพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไปและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น, 2) บริษัท ซี ที สตีล จำกัด ควรเจาะบ่อสังเกตการณ์เพิ่มในทิศทางท้ายน้ำหรือทิศตะวันตกของพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนในน้ำใต้ดินอย่างใกล้ชิด โดยเสนอด้วยว่าการก่อสร้างบ่อสังเกตการณ์ควรเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิชาการว่าด้วยการก่อสร้างบ่อสังเกตการณ์ตามที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนด และ 3) ควรให้มีการเจาะสำรวจเพิ่มเติมบริเวณภายนอก บริษัท ซี ที สตีล จำกัด เพื่อประเมินทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินอย่างละเอียดและประเมินผลกระทบของสารปนเปื้อนในชั้นน้ำใต้ดิน