การแก้ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ควรมุ่งไปที่ “ปิ้งย่าง” จริงหรือ ?
ฤดูกาลของปัญหาฝุ่น PM2.5 เวียนมาสู่หลายจังหวัด รวมถึง กทม. อีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าสถานการณ์ปัญหาของปีนี้อาจจะรุนแรงกว่าหรืออาจจะรุนแรงพอกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหา ยังคงย่ำอยู่กับเรื่องไฟป่า การเผาภาคเกษตร และการคมนาคม ที่เพิ่มเติมมาสำหรับ กทม. คือมีการเล็งไปที่ร้านปิ้งย่าง ทำให้เกิดคำถามและความข้องใจว่า หากเทียบร้านปิ้งย่างที่ว่ามีจำนวนมากมาย กับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 13,000 โรงที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อะไรเป็นสาเหตุที่เสริมความรุนแรงของปัญหา PM2.5 และมลพิษอากาศที่กำลังทำลายสุขภาพของประชาชน มากกว่ากัน ?
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การจะพิสูจน์ความจริงข้อนี้มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง แม้แต่ข้อมูลก็มีอยู่จำกัด ตื้นเขิน และไร้ระบบที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเท่าที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศประมวลมาได้และอยากนำเสนอพร้อมทั้งตั้งประเด็นในที่นี้ คือ
1. ก่อนที่จะมีนโยบายขยายการลงทุนออกไปยังภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดมาหลายทศวรรษ โดยพื้นฐานแล้ว โรงงานในพื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นจำพวกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนเก่า มีลักษณะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ตั้งกระจัดกระจายและขาดการจัดระเบียบตามผังเมืองที่เหมาะสม และมีโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตเส้นใยสังเคราะห์ โรงผลิตยาง โรงฟอกย้อม และอื่นๆ อยู่หลายร้อยแห่ง
จากการเข้าไปสืบค้นและประมวลข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงงานและสถานประกอบการที่เข้าข่ายก่อปัญหามลพิษอากาศและฝุ่นละอองจำนวนถึง 5,582 โรง ส่วนในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด มีโรงงานอุตสาหกรรมที่จัดเป็นแหล่งมลพิษอากาศรวมแล้วสูงถึง 7,690 โรง
2. ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ที่ประกาศออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2549 กำหนดว่า โรงงานที่ประกอบกิจการดังต่อไปนี้ จะต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ รวมถึงฝุ่นละอองด้วย ได้แก่ โรงงานเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ โรงงานเกี่ยวกับการหลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตเหล็ก การอัดเศษโลหะ โรงงานเกี่ยวกับสิ่งทอ การผลิตด้าย โรงงานเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากไม้ โรงงานเกี่ยวกับกระดาษ โรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาง โรงซ่อมและพ่นสีรถยนต์ โรงผลิตหรือบรรจุสารเคมี ปุ๋ยเคมี และโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และยังมีประกาศกระทรวงฯ ฉบับอื่นๆ ที่มีการประกาศใช้หลังปี พ.ศ. 2549 สำหรับใช้ควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียและฝุ่นจากโรงงานเฉพาะบางกิจการ เช่น โรงโม่ บด หรือย่อยหิน โรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานรีไซเคิล เป็นต้น
3. มลพิษในอากาศที่ปล่อยจากโรงงานต่างๆ ตามข้อ 2. ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าจะต้องควบคุมในการปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองในรูปฝุ่นรวม (TSP) กลุ่มก๊าซที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนในรูปก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx as NO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCl) กรดกำมะถัน (Sulfuric acid) ไซลีน (Xylene) ครีซอล (Cresol) พลวง (Sb) สารหนู (As) ทองแดง (Cu) ตะกั่ว (Pb) คลอรีน (Cl) และปรอท (Hg) ซึ่งสารบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักตกค้างสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งระยะใกล้และไกล ไม่ได้สูญหายไป หรือจับตัวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่อาจจะทำให้ฝุ่นในอากาศและรอบตัวเรามีอันตรายมากยิ่งขึ้น
4. เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้ถูกแก้ไขและมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับ 2) พ.ศ. 2562 ทดแทน ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้แก้ไขนิยามและขนาดของโรงงาน ทำให้สิ่งที่จะเข้าข่ายเป็น “โรงงานตามกฎหมาย” จะต้องมีขนาดหรือกำลังการผลิตเทียบเท่า 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ทั้งที่ตามกฎหมายเดิม สถานประกอบการใดมีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่า 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ก็จะถือเป็น “โรงงาน” ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายโรงงานแล้ว จำนวนโรงงานในเขตกรุงเทพฯ ตามนิยามของพระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่ จึงเหลือเพียง 2,011 แห่ง ขณะที่จำนวนโรงงานทั้งหมดของกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวม 6 จังหวัด ได้ลดจาก 13,272 แห่งตามนิยาม “โรงงาน” ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 เหลือ 8,756 แห่ง ตามนิยาม “โรงงาน” ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2562
5. ผลจากการเปลี่ยนนิยามโดยกฎหมายตามข้อ 4. ทำให้เกิดสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “โรงงานที่หายไปในทางกฎหมายโรงงาน” กล่าวคือ โรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษเหล่านั้นไม่อยู่ในความควบคุมของ พ.ร.บ. โรงงานอีกต่อไป แต่ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน
เมื่อคิดจากส่วนต่างของตัวเลขปี 2560 กับหลังปี 2562 เท่าที่พอมีข้อมูล พบว่า “โรงงานที่หายไป” โดยผลของกฎหมายดังกล่าว ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ มีจำนวน 3,571 โรง ส่วนที่ตั้งในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด มีจำนวน 945 โรง ซึ่งโรงงานเหล่านี้จะย้ายจากความรับผิดชอบในการกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร และจากความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมจังหวัดไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด
6. โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิด PM2.5 หรือมลพิษอากาศจากภาคอุตสาหกรรม ผู้คนทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป อาจค่อนข้างรู้สึกมองข้ามด้วยความวางใจ ว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งมลพิษที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับควบคุมแล้ว ในขณะที่การเผาทั่วไปในที่โล่งและร้านปิ้งย่าง ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ตามที่หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์รายงานเมื่อไม่กี่วันก่อนถึงแนวทางในการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครของผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่า ร้านอาหารปิ้งย่างนั้น มีผลเฉพาะพื้นที่ ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 หนาแน่นขึ้น หลังจากนี้ก็ต้องไปดูว่าต้องมีที่ดักควันหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามปิ้งย่างแต่ต้องมีตัวดูด หรือเก็บควันก่อนปล่อยออกมา ไม่ใช่ปล่อยอิสระ เพราะหากช่วงที่อากาศปิดก็จะทำให้ค่า PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น และในวันเดียวกันนั้น ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ว่า ในภาพรวมแล้ว สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 แหล่งกำเนิดหลัก ๆ คือ การจราจร และการเผาไหม้ในที่โล่ง สำหรับการเผาไหม้จากร้านอาหารประเภทปิ้งย่างนั้น ถือว่าเป็นหน่วยเล็ก ๆ และอาจจะทำให้เกิดเป็นกลุ่มควันเฉพาะพื้นที่ ตามที่นายชัชชาติกล่าวนั้นถูกต้องแล้ว (ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/news_4328477) จึงถือได้ว่าพอเข้าใจในความตั้งใจดีและที่มาที่ไปของความคิดแนวนี้
7. แต่มีแง่มุมความรู้และความจริงที่น่าจะต้องเสริมเข้าไปในเจตนาที่ดีและการทำหน้าที่ตามกฎหมาย นั่นคือ ส่วนของจำนวนโรงงานอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่หลุดออกจากการควบคุมกำกับตามกฎหมายโรงงานนั้น แท้จริงย่อมไหลเข้าสู่ขอบเขตอำนาจตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข
ดังนั้น อดีตโรงงานที่เคยอยู่ในความควบคุมของกฎหมายโรงงาน 3,571 โรงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ กทม. ดูแล และ 945 แห่งที่ตั้งอยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑล ซึ่งแบ่งเป็นสมุทรปราการ 352 โรง, นนทบุรี 256 โรง, ปทุมธานี 163 โรง, นครปฐม 101 โรง, และสมุทรสาคร 73 โรง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายควรที่จะต้องเหลียวแลและให้ความใส่ใจ อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยการมีมาตรการลงสำรวจตรวจสอบ อย่างน้อยต้องสำรวจสถานะว่า แม้ไม่ใช่โรงงานตามกฎหมายแล้ว แต่ยังเป็นโรงงานในทางกายภาพไหม ประกอบกิจการประเภทใด เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจน จัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดีและครอบคลุม พร้อมสำหรับที่จะนำมาใช้ประกอบการแก้ปัญหาทันที และเพื่อใช้ในการวางแผนกำกับดูแลต่อไปในอนาคต
8. ทั้งนี้ ต้องตระหนักด้วยว่า ฝุ่นและมลพิษอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรม นอกจากมีอันตรายในแง่มุมความเป็นฝุ่นแล้ว มลพิษที่แฝงมากับฝุ่นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะก่อพิษร้ายแรงต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมหลากหลายลักษณะและนานัปการและอาจจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายได้สูงกว่า
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
1. PM2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 1: ในม่านมัวของปัญหาฝุ่น PM2.5 มี “อุตสาหกรรม” ซ่อนเร้นอยู่
https://earththailand.org/th/article/6822
2. PM 2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 2: กรณีมลพิษอากาศอุตสาหกรรมในตำนาน
https://earththailand.org/th/article/6823
3. PM 2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 3: สารมลพิษทางอากาศกับผลกระทบแสนอันตราย
https://earththailand.org/th/article/6824