“ชีวิตและการทำงาน (เพื่อสังคม) ให้มีความสุขในยุคดิจิทัล” การบรรยายธรรมโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ณ สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ
“ชีวิตและการทำงาน (เพื่อสังคม) ให้มีความสุขในยุคดิจิทัล”
การบรรยายธรรมโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโลณ สำนักงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566
.
ขอเจริญพรอาจารย์ คุณหมอ และญาติโยมทุกท่านทั้งที่เป็นมิตรร่วมสมัยและมิตรต่างวัย อาตมายินดีที่ได้มาพูดคุยในวันนี้ ในโอกาสที่มูลนิธิบูรณะนิเวศมีอายุยืนยาวมาเสี้ยวศตวรรษ คือ 25 ปี จริงๆ อย่างที่เพ็ญโฉม (ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ) เล่า กลุ่มนี้มีความเป็นมายาวนานกว่านั้น
การที่องค์กรเล็กๆ หรือที่เรียกว่าเอ็นจีโอ จะมีอายุยืนยาวถึง 25 ปีมันไม่ใช่เรื่องง่าย หลายองค์กรก็เลิกราไปแล้ว อย่างอาตมาเคยทำองค์กรสมัยเป็นฆราวาส ชื่อ กศส. กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2519 ก็ปิดตัวไปแล้ว กศส. ทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ที่ปิดตัวเพราะว่าตอนนั้นปัญหาสิทธิมนุษยชนลดน้อยลง คนทำงานก็เหลือน้อยลงไป รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนก็กระพร่องกระแพร่ง ก็เลยปิดตัวลง ซึ่งก็คงเป็นชะตากรรมเดียวกับหลายองค์กรหลาย NGO ซึ่งเคยมีบทบาทที่สำคัญในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าก็ต้องปิดตัวลง
ดังนั้นการที่มูลนิธิบูรณะนิเวศยังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และคิดว่าจะมีอนาคตที่ยืนยาว อย่างน้อยๆ ก็เท่าตัว คืออีก 25 ปี เป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เพราะว่า แม้ว่าสิ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศจับอยู่ คือเรื่องมลพิษจากอุตสาหกรรม รวมถึงขยายไปถึงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนับวันจะรุนแรงมากขึ้น แต่ว่าการทำงานแบบนี้ในลักษณะของเอ็นจีโอในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความตื่นตัวของผู้คนหรือความสนใจของผู้คนในเรื่องนี้ แม้ทุกคนจะเห็นว่ามันสำคัญ แต่ว่ามีสิ่งอื่นที่ไปดึงดูดความสนใจเขามากกว่า โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ผู้คนหันไปสนใจเรื่องการเมืองในระดับประเทศมาก มันก็เป็นอย่างนี้มา จะว่าไปก็เกือบ 20 ปีแล้วนะ ที่ความสนใจทางด้านการเมือง การช่วงชิงทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ยุคทักษิณ-ไม่ทักษิณ แล้วต่อมาก็เหลือง-แดง และประยุทธ์กับไม่ประยุทธ์ มันต่อเนื่องเรื่อยมา และทำให้หันเหความสนใจของผู้คนออกไปจากเรื่องอื่น อันนี้เราดูได้จากโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ มีแต่เรื่องเหล่านี้ คือไม่ใช่ว่ามันไม่สำคัญนะ มันสำคัญ แต่ว่ามันบดบังความสนใจของผู้คน และยิ่งกว่านั้นคือ มันทำให้ประเด็นต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ประเด็นทางศาสนา ถูก politicize ขอใช้ภาษาอังกฤษ คือถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองในความหมายที่ว่าเป็นเรื่องของสี
.
ถ้าเราพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา คือ หลายประเด็นมันถูกมองว่าเป็นเรื่องของสีนั้นสีนี้ไป เช่นถ้าเป็นประเด็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของสีแดง ถ้าเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็สีเหลือง เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องสีเหลือง ถ้าเป็นเรื่องยุติธรรมก็เป็นเรื่องของสีแดง แม้ทุกวันนี้เรื่องสีแดง-สีเหลืองมีคนพูดน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังหนีไม่พ้นถูกแบ่งเป็นขั้ว ถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องสีเหลือง คนที่เชียร์สีแดงก็จะไม่ค่อยมาสนใจด้วยถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตย/เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกปิดฉลากเป็นเรื่องสีแดง คนที่เชียร์สีเหลืองก็จะไม่สนใจ ไม่อยากเข้าไปพัวพันด้วย
.
เหล่านี้ทำให้ความตื่นตัวของผู้คนที่จะสนับสนุนประเด็นต่างๆ ทางสังคม การเกิดฉันทามติร่วมกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องยาก ซึ่งต่างจากเมื่อ 30-40 ปีก่อน เวลาเราพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยก็ดี เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดี เรียกว่าคนทั้งสังคมที่มีความคิดแบบหัวก้าวหน้าหรือสนใจเรื่องบ้านเมือง เขาก็จะผนึกกำลังไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีการแบ่งว่านี่เป็นเรื่องสีเหลืองหรือสีแดง ไม่มี เกิดฉันทามติผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิ่งแวดล้อม
.
ลองนึกภาพในสมัยก่อน เวลาเกิดเหตุการณ์ทุ่งใหญ่ฯ พวกเรารู้จักใช่ไหม กรณีทุ่งใหญ่นเรศวรที่เป็นที่มาของ 14 ตุลาฯ หรือการต่อต้านเขื่อนน้ำโจน กระแสสังคมและสื่อมวลชนตอนนั้นจะเทไปในแนวทางเดียวกัน คือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแกนนำ แต่ว่าปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้น หาฉันทามติร่วมกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ยากมาก หรือแทบจะไม่มีเลย
.
ดังนั้นเมื่อพูดถึงประเด็นอย่างสิ่งแวดล้อม เราก็จะพบว่าจะมีทั้งความเห็นคนที่สนับสนุนและคนที่คัดค้าน แม้กระทั่งประเด็นที่เราเชื่อว่าน่าจะเห็นด้วยกัน อย่างเช่นการวิ่งเพื่อช่วยหาทุนสนับสนุนโรงพยาบาล ซึ่งก็ดูว่าน่าจะเป็นเรื่องดี แต่สังคมแบ่งเป็นสองฝ่ายทันที ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ฝ่ายเห็นด้วยคือฝ่ายที่ถูกเรียกว่าสลิ่ม สีเหลือง ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยคือฝั่งสีแดง เขาบอกว่า มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องของประชาชนที่จะมาหาเงินให้โรงพยาบาล การทำอย่างนี้ทำให้ปัญหาโครงสร้างถูกมองข้ามไป ที่พูดมานี่ก็จริง แต่ว่ามันไม่ได้ลงเอยแค่นั้น มันตามมาด้วยการคัดค้าน ไม่เห็นด้วย โจมตี คนที่ทำงานด้านนี้ ซึ่งหลายคนที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่อาจไม่ได้มองปัญหาด้านโครงสร้างเพียงพอก็ท้อถอย
ดังนั้น เวลานี้ คนที่ทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าคุณทำประเด็นอะไรก็ตาม แม้จะมีคนสนับสนุน แต่ก็มีคนคัดค้านไม่น้อย ด้วยเหตุผลทางการเมือง ด้วยเหตุผลของการที่สังกัดกลุ่มการเมือง เพราะว่าประเด็นต่างๆ ในสังคมตอนนี้มันถูกให้ค่าหรือถูกปิดฉลากทางการเมืองแล้ว
.
ปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าสังคมไม่เกิดอาการที่เรียกว่า Polarization การแบ่งแยกเป็นสองขั้ว สังคมทุกวันนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทย สังคมอื่นด้วย มันแบ่งแยกเป็นสองขั้ว แบบครึ่งๆ เลย เอ้าดู เมืองไทย ตุรกี อิสราเอล อเมริกา อังกฤษ แม้แต่ฟิลิปปินส์ เผลอๆ พม่าด้วย มันแบ่งเป็นสองขั้ว แทบจะครึ่งๆ ผลการเลือกตั้งตุรกี แต่ละฝ่ายได้ราวๆ 50% การเลือกตั้งของอเมริกาก็ชนะกันแค่นิดเดียว ลักษณะการแยกออกเป็นสองขั้วนั้นชัดเจน
.
สังคมตอนนี้แทบจะทั่วโลก แยกเป็นสองขั้ว ซึ่งเรียกเป็นภาษาง่ายๆ คือซ้ายกับขวา แต่ที่จริงศัพท์พวกนี้มันล้าสมัยแล้ว มันซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ ซึ่งมันทำให้ปัญหาในสมัยก่อนกลายเป็นเรื่องง่ายๆ เลย ปัญหาของโลกหรือของประเทศเมื่อสมัยก่อน 40 ปีที่ผ่านมามันดูง่ายมากเลย คือผู้ร้ายกับพระเอกมันชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ชัดเจนแล้ว ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย
.
ยุคดิจิทัลนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่พวกเราที่ทำงานทางสังคม เพราะพวกเราก็มีสื่อของเราเอง มี platform ของเราเองได้ เพราะโซเชียลมีเดีย เช่นเฟซบุ๊ก มันก็เป็นสื่อของเราที่เราจะสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนที่เห็นด้วยกับเรา โดยที่ไม่ต้องง้อสื่อสารมวลชน แต่อีกแง่อีกด้านก็หมายความว่าเราต้องแข่งเพื่อที่จะดึงความสนใจของผู้คน
.
ตอนนี้สิ่งที่มีค่ามีความสำคัญมาก คือสิ่งที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า attention คือความสนใจ เพราะทุกอย่างตอนนี้มันมีความพยายามดึงดูดความสนใจของเราไปสู่สิ่งอื่น เขาแข่งกันที่จะดึงความสนใจของเรา ไม่เฉพาะป้ายโฆษณา คุณอยู่ที่ไหนก็มีสิ่งที่ดึงความสนใจของคุณอยู่ อย่างขึ้นรถไฟฟ้า มันก็มีโฆษณาที่จะดึงความสนใจของเราไปสู่บริการหรือการขายของ
.
ในโซเชียลมีเดียมีความพยายามที่จะดึงดูดความสนใจของเรามาก อินฟูเอนเซอร์จึงสำคัญ นั่นคือคนที่สามารถจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มาก เพราะฉะนั้น การที่ทุกวันนี้มีอะไรต่ออะไร มีสื่อ มีกลุ่มบุคคลต่างๆ มากมายที่พยายามดึงดูดความสนใจของคน ซึ่งมีจำนวนจำกัดและมีเวลาจำกัด ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นความสนใจของผู้คนให้มาสนใจประเด็นปัญหาทางสังคม
.
ดังนั้นทุกวันนี้คนที่จะสนใจเรื่องพิษภัยของอุตสาหกรรม จึงมีน้อยมาก เว้นแต่ว่าคุณจะไปหาอินฟูเอนเซอร์มาพูดเรื่องนี้ ไม่งั้นคนก็ไม่สนใจ เพราะไม่ใช่สิ่งแรกที่จะดึงดูดความสนใจได้มากพอ นี่คือปัญหา
.
แต่ปัญหาที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือ โซเชียลมีเดียมันนำไปสู่การทำให้คนมีความเห็นที่สุดขั้วทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม
.
สมัยก่อน การที่คนที่มีความคิดสุดขั้วจะเข้าถึงคนส่วนใหญ่หรือคนจำนวนมาก เป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะว่าหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ที่เป็นสื่อมวลชนเขาไม่สนใจ เขาไม่สนใจ เขาไม่ให้ค่ากับพวกความคิดแบบสุดขั้ว แบบพวกชายชอบ แต่โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดชายชอบหรือพวกสุดขั้วติดต่อสื่อสารกันได้ และสามารถที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดึงดูดความสนใจ หาพรรคหาพวก
.
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กมันให้ความสำคัญกับฟีดหรือโพสต์ที่สามารถกระตุ้นให้คนเอ็นเกจ (engage) สามารถที่จะ engage ได้ แชร์ กดไลก์ คอมเมนต์ และโพสต์ที่กระตุ้นให้คน engage มากก็คือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เฟซบุ๊กจะให้รางวัล/แรงจูงใจกับโพสต์แบบนี้มาก รวมทั้งทวิตเตอร์ด้วย สมัยก่อน คือฟีดหรือโพสต์ที่ทำให้คนมีความกลัว มีความเกลียด มีความโกรธ จะดึงให้คนมี engage มาก แล้วเฟซบุ๊กก็จะดึงพวกนี้ให้ปรากฏตามหน้าจอเรา แล้วอะไรที่จะดึงดูดให้คนเกิดความเกลียด ความกลัว ความโกรธ ก็คือพวกเฟกนิวส์ พวกความคิดสุดขั้ว ฉะนั้นโซเชียลมีเดียจึงมีส่วนเสริมมากให้คนมีความเห็นที่สุดขั้วมากขึ้น
.
สมัยก่อน เอาง่ายๆ คนที่เชื่อว่ากินทุเรียนลดความดันได้ มันไม่มีพื้นที่ในสื่อหรอก แต่เดี๋ยวนี้มีคนเชื่อเยอะเลยว่ากินทุเรียนลดความดันได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ แต่นี่ยังไม่กระตุ้นเรื่องความเกลียดความกลัว ซึ่งพวกสุดขั้วจะทำตรงนี้มาก กระตุ้นตรงนี้มาก
.
เพราะฉะนั้นในยุคดิจิทัล ยุคโซเชียลมีเดีย มันจะมีความคิดเห็นแบ่งขั้วเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน อันนี้เขาเป็นข้อสรุปร่วมกันแล้ว อย่างนานาประเทศที่พูดมา มันมีความคิดเป็นสองขั้ว เกิดอาการ Polarization อย่างรุนแรง แบ่งครึ่งๆ โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กมีผลมาก มีอิทธิพลมาก ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้งานที่เราทำลำบากมากขึ้นเพราะว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็จะมีความเห็นแย้งเพราะการให้ข้อมูลผิดๆ ออกมา อันนี้เรียกว่า ดิจิทัลให้ทั้งคุณและโทษสำหรับงานที่เราทำ
นอกจากจะส่งเสริมให้เกิดความคิดที่สุดขั้วมากขึ้นแล้ว มันยังส่งเสริมให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้นด้วย คนเดี๋ยวนี้อารมณ์รุนแรงมาก ทั้งในแง่ของความซึมเศร้าที่หนัก และความโกรธเกลียดที่รุนแรง ถ้าเราติดตามงานวิจัยต่างๆ จะพบว่า โซเชียลมีเดียมีผลมาก ทำให้คนซึมเศร้าหนักขึ้น
เดี๋ยวนี้ในหลายประเทศถึงกลับมีกฎหมายกำหนดรายละเอียดว่า อายุเท่าไรถึงจะใช้โซเชียลมีเดียหรือเฟซบุ๊กได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการสอนวิธีการใช้โซเชียลมีเดีย อย่างการจะขับรถได้ต้องมีการสอบเพื่อได้รับใบอนุญาตขับขี่ฉันใด เขาเสนอว่าเด็กและเยาวชนจะใช้โซเชียลมีเดียได้ จะต้องผ่านการอบรม หรือรวมถึงการได้รับอนุญาตให้ใช้โซเชียลมีเดียได้ฉันนั้น เพราะมันอันตรายพอๆ กับขับรถ ถ้าขับรถไม่เป็น ไม่ได้เรียนมา มันก็จะไปชนเขาได้ เกิดความเดือดร้อน โซเชียลมีเดียเหมือนกัน เพราะคนอาจฆ่าตัวตายเพราะความซึมเศร้า เพราะถูกบุลลี่ เยอะมาก รวมทั้งมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่นการไม่กินอาหาร หรือกินอาหารที่ผิดเพี้ยน เรียกว่า eating disorder เดี๋ยวนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไม่ยอมกินอาหาร หรือกินแล้วต้องเอามือล้วงให้อาเจียนออก พวกนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในหมู่เยาวชนเพราะโซเชียลมีเดียนี่แหละ มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันเรื่องนี้
นี่เฉพาะความรู้สึกดาวน์นะที่รุนแรงมากขึ้น ส่วนความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นเร้าให้พลุ่งพล่านด้วยความโกรธความเกลียด ซึ่งเป็นอีกขั้วหนึ่งของอารมณ์ มันก็รุนแรงเช่นกัน อันนี้ไม่ต้องอธิบายมากเลย เพราะว่าถ้าเราดูเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ จะเห็นเลยว่าทุกคนอารมณ์รุนแรงมาก ซึ่งทำให้บดบังการใคร่ครวญประเด็นปัญหาทางสังคมการเมือง และทำให้คนไม่ได้คิดรอบคอบ และทำให้สิ่งที่เราพยายามทำเป็นเรื่องยากมากขึ้นเพราะคนใช้อารมณ์มาก ความที่สุดขั้วและอารมณ์ที่รุนแรง มันทำให้มีอุปสรรคมากนะที่สังคมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีสติ มีปัญญา
.
ฉะนั้นสำหรับหลายคนที่สนใจอยากให้สังคมและโลกดีขึ้น ตอนนี้ก็เรียกว่าจะต้องมีสติมาก ๆ และมีกำลังใจไม่เหือดแห้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่เอาจะรักษาไฟให้มีแรงทำงานแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ ได้นานๆ เพราะมันง่ายมากที่จะท้อ ยิ่งถ้าไปทำงานอยู่ชนบทจะท้อมาก เพราะว่าสิ่งที่เคยทำและดูเหมือนได้ผลบางเรื่องสักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แทบจะสูญสลายไปหมด ตั้งแต่ยุคทักษิณ แต่มันไม่ใช่แค่ยุคทักษิณ มันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถึงวันนี้ก็ร่วม 20 ปีแล้ว
.
ทุกประเด็นปัญหาทางสังคมและการเมืองก็จะประสบกับความล้มเหลวและเจอความยากลำบาก ต้องยอมรับว่าในช่วงนี้มันเป็นยุคขาลงของความคิดแบบก้าวหน้า ความคิดแบบหัวก้าวหน้า หรืออุดมการณ์แบบประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมความคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม มันเป็นช่วงขาลง ช่วงถดถอย ซึ่งต่างกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมัยที่กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สมัยที่ใครๆ คิดว่าประชาธิปไตยกำลังเฟื่อง ตอนนั้น มีนักวิชาการบางคนบอกว่า มันเป็น The End of History มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อนี้ เขียนขึ้นหลังจากที่กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สงครามเย็นกลายเป็นอดีตไป แต่เป็นอดีตชั่วคราว
.
เดี๋ยวนี้ยุคสงครามเย็นมันกลับมาใหม่ แม้กระทั่งเรื่องจีน/อเมริกา เมืองไทยก็มองเห็นแตกต่างเป็นขั้วเลย สมัยก่อนบุคคลสายก้าวหน้าเห็นไปในทิศทางเดียวกันเลย อเมริกานี่ต้องระวัง ส่วนจีนยังเป็นที่หวังได้ในเรื่องสังคมนิยม แต่ตอนนี้แบ่งเป็นขั้วชัดเจน สุดท้ายบอกว่าคุณอยู่พวกไหน คุณเชียร์ใคร คุณเชียร์ประยุทธ์ คุณก็เห็นด้วยกับจีน คุณต่อต้านประยุทธ์ คุณก็เห็นด้วยกับอเมริกาตอนนี้มันอยู่ที่ว่าคุณเป็นพวกใคร ดังนั้นมันเป็นสงครามเย็นอีกแบบที่ซับซ้อนกว่า
อย่างที่บอกว่า ตอนนี้เป็นช่วงของความถดถอยของความคิดเสรีนิยมแบบหัวก้าวหน้าแบบประชาธิปไตย ถ้าพวกเรามีความคิดโน้มเอียงไปทางนี้ มันจะเป็นช่วงที่ทำให้เรารู้สึกท้อ เพราะว่าทำเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ ขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย เรื่องความยุติธรรมในสังคม ก็ไปได้ช้า
.
หลายๆ คน ถ้าวางใจไม่เป็น นอกจากท้อแท้แล้วจะซึมเศร้าด้วย มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ซึมเศร้า เพราะเห็นว่าสังคมหรือการเมืองไม่ได้ดีขึ้น จะกระเตื้องขึ้นมาก็หลัง 14 พฤษภาที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนมีความหวัง แต่ว่าหลายคนก็เครียด เพราะว่ามีอุปสรรคเหลือเกิน แต่ในภาพรวมแล้ว มันเป็นกระแสโลกนะ คือความคิดแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม หรือความคิดแบบหัวก้าวหน้า ไม่ว่าที่ไหน ตอนนี้อยู่ในช่วงภาวะถดถอย อยู่ในช่วงขาลง
.
ถ้าวางใจไม่เป็นจะท้อ แต่ถ้าเรามองให้ยาวไกลออกไป จะมีความหวัง เพราะว่ามองในแง่ของความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องธรรมดามาก สังคมทุกสังคมมีขึ้นและมีลง ในบางช่วงเป็นยุคมืดทางปัญญา แต่พอเวลาผ่านไปก็เป็นช่วงสว่างไสวทางด้านสติปัญญา เมืองไทยเราก็ผ่านภาวะขึ้นลงอย่างนี้มาหลายครั้ง ช่วงสมัยสฤษดิ์ก็เป็นยุคมืดทางปัญญา แล้วก็มาสู่ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้มีความหวัง แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความหดหู่ท้อแท้
.
ถ้าเรามองโลก มองสถานการณ์บ้านเมืองด้วยสายตาเพียงแค่สั้นๆ มันก็มีเหตุทำให้ท้อ แต่ถ้าเรามองความเป็นไปของโลกด้วยสายตาที่ยาวไกล อาตมาเรียกว่าสายตาของประวัติศาสตร์ ก็จะมีความหวัง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องธรรมดา สุดท้ายมันก็เป็นของชั่วคราว อยู่ที่ว่าเราจะอดทนเพียงพอไหมในการที่จะฟันฝ่าช่วงที่เป็นยุคมืด ยุคถดถอย ยุคที่เต็มไปด้วยปัญหา
.
แน่นอนว่า อนาคตก็ดูจะไม่สดใสเท่าไร ถ้าเราผนวกเอาเรื่องของปัญหาโลกร้อนเข้ามาพิจารณาด้วย มันไม่เคยมียุคใดที่ผู้คนจะเห็นอนาคต 30 ปีข้างหน้าในทางที่ชวนหดหู่ เพราะว่าโลกร้อนมาแน่ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก่อนถึงปี 73 แนวโน้มที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่า 1.5 องศา เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม เป็นไปได้สูง เขาบอกว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ก่อนปี 73 นั่นคือ 7 ปีข้างหน้า
.
มองในแง่นี้ก็อาจทำให้ท้อแท้ได้ แต่ถ้าเรามองในแง่ประวัติศาสตร์ ก็อาจทำให้เรามีความหวังได้ ถ้าเราตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่ความผันผวนชั่วคราว โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละมีขึ้นมีลง และเป็นอย่างนี้มาตลอด
.
ดังนั้นตอนนี้จึงอยู่ที่ว่าเราจะต้องรักษาใจของเราให้มีพลัง ให้มีความหวัง มีสายตาที่ยาวไกล และมองโลกในภาพกว้างด้วย ให้เห็นว่า มันไม่ได้เกิดแต่เมืองไทย มันเป็นกระแสโลก และกระแสโลกก็ไม่คงที่ มันก็แปรเปลี่ยนไปได้เหมือนกันวันดีคืนดี พอกระแสโลกเปลี่ยนแล้ว อะไรๆ ก็ขยับตัวมากขึ้นและอาตมาคิดว่า มันจะเป็นการดีถ้าเรามีมิติในด้านลึกด้วย คือขอให้มองว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเดียว แต่เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเราเองด้วย ถ้าเรามีความคิดอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงตนเองกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน ขณะที่เราเปลี่ยนแปลงโลก เราก็ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย และหากเราเปลี่ยนแปลงตนเองได้มากเท่าไหร่ เราก็มีเรี่ยวแรงในการเปลี่ยนแปลงโลกได้มากเท่านั้น
.
ถ้าเราให้ความสำคัญกับมิติด้านลึก คือด้านใน มองว่าการทำงานเพื่อสังคมก็มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เรามีความเห็นแก่ตัวน้อยลง มีความยึดติดถือมั่นน้อยลง มันช่วยทำให้การทำงานทางสังคมของเราเป็นไปได้ดีขึ้น มีความยั่งยืน ไม่เลิกกลางคันเพราะท้อ หรือเบี่ยงเบนจากเป้าหมายเพราะพ่ายแพ้ต่อสิ่งเย้ายวน ถ้าเราคำนึงถึงมิติด้านในอยู่เสมอ การทำงานเพื่อสังคมจะช่วยเสริมสร้างวุฒิภาวะให้กับเรา วุฒิภาวะที่สูงขึ้นก็หมายความว่าเราอดทนได้มากขึ้น รวมทั้งยอมรับความเห็นต่างได้มากขึ้น
.
แต่เดี๋ยวนี้เราพบว่า คนอายุมากรับฟังน้อยมากเลย ทั้งที่ตอนที่ตัวเองเป็นวัยรุ่นก็เฮี้ยวเหมือนกัน และก็เป็นคนที่ขบถ หรือชอบประท้วงต่อต้านพ่อแม่ คนแก่ทุกคนตอนนี้ ตอนเป็นวัยรุ่นเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น คือชอบ ประท้วงต่อต้าน ถ้าไม่ต่อต้านพ่อแม่โดยตรงก็ต่อต้านคำสั่งหรือระเบียบของพ่อแม่ รวมทั้งครูด้วย มันเป็นธรรมดาของวัยรุ่นนะที่จะต่อต้านไว้ก่อน เพราะว่ามันเป็นวิธีที่จะยืนยัน “ตัวกู” คือตัวกูมันจะมีได้มันต้องคิดต่าง เพราะถ้าคิดคล้อยตามพ่อแม่หรือคนรุ่นเก่า หรือครูบาอาจารย์ ตัวกูก็ไม่เกิด มันต้องต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะต่างจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ตัวกูมันถึงจะเห็นชัด
.
เพราะฉะนั่นเป็นธรรมดาของคนรุ่นใหม่ที่จะประท้วงต่อต้าน เมื่อสัก ๖๐ ปีที่แล้วมีหนังเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด ดังมาก ชื่อ Rebel Without Cause เจมส์ ดีน เล่น คนหนุ่มคนสาวชอบมากเลย ชื่อหนังแปลว่าอะไร ก็คือขบถหรือต่อต้านแบบไม่มีเหตุผล เคยได้ยินไหม คือประท้วงแบบไม่มีเหตุผลน่ะ ประท้วงไว้ก่อน และคนที่ดูหนังเรื่องนี้ก็คือวัยรุ่นเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เป็นคนแก่แล้ว แต่ตอนนี้ใครมาประท้วงกูไม่ได้ ใครคิดต่างจากกูไม่ได้ เอาตายเลย ตอนนี้ผู้ใหญ่หรือคนแก่เวลานี้ตื่นเต้นตกใจมากที่มีเด็กวัยรุ่นบอกว่า พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณกับฉัน ลูกไม่จำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ ผู้ใหญ่หลายคนตกใจกันมาก แต่ถ้ามองอย่างเข้าใจคนรุ่นใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก มันเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่เวลานี้
.
สมัยก่อน อาตมามีเพื่อนหลายคน เป็นพวกซ้ายสุดขอบเลย ซ้ายสุดกู่ ต่อต้านทุกสถาบัน ตอนนี้มันภักดีทุกสถาบันเลย และต่อต้านคนที่วิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบัน มันเป็นอย่างนี้แหละ อาตมากำลังบอกว่า มองโลกต้องมีมุมมองที่ยาวไกลด้วย แล้วเราจะเข้าใจว่ามันธรรมดา เข้าใจว่า เออ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ
.
ที่พูดนี้อาจจะผิดก็ได้นะ เพราะว่าเป็นการมองโดยเอาประสบการณ์ในอดีตของตนมาอ้างอิงเหมือนกับว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยที่พูดมาก็เป็นความพยายามที่จะเข้าใจคนที่ต่างกับเรา รวมทั้งคนที่อายุน้อยกว่า อาตมาอยากให้คนที่ทำงานเพื่อสังคมรุ่นอาวุโสพยายามเข้าใจคนรุ่นใหม่รวมทั้งคนที่คิดแตกต่างจากตน แต่แน่นอน ถ้าคนรุ่นใหม่เปิดใจฟังคนรุ่นเก่าด้วย ก็ยิ่งดี จะเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น