"บาเซลแบน" มีผลคุ้มครองไทยจากขยะพิษข้ามแดนตั้งแต่ 7 มิถุนายนนี้

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), 7 มิถุนายน 2566

 

 


 

ไทยเริ่มบังคับใช้ “ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซล”- ห้ามนำเข้าของเสียอันตรายจากกลุ่มประเทศ OECD สหภาพยุโรป และลิกเตนสไตน์ โดยเด็ดขาด


วันนี้ (7 มิ.ย. 66) ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อบทดังกล่าวกำหนดว่า ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สหภาพยุโรป (EU) และลิกเตนสไตน์ ต้องยกเลิกการส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ มายังประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล ดังนั้น กล่าวได้ว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยต้องห้ามนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลจากกลุ่มประเทศข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเด็ดขาด
 

อนุสัญญาบาเซลฯ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตราย จัดตั้งขึ้นในปี 2532 โดยในเบื้องต้นนั้นไม่ได้มีข้อบังคับให้ยกเลิกการส่งออกหรือนำเข้าของเสียใด ๆ แต่ต่อมากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกขยะของประเทศพัฒนาแล้ว ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขอนุสัญญาฯ ดังกล่าว ให้มีข้อกำหนดว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่กลุ่มประเทศ OECD สหภาพยุโรป และลิกเตนสไตน์ ห้ามส่งออกของเสียมายังประเทศกำลังพัฒนาที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม แต่แล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่ 103 ที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล ส่งผลให้ข้อกำหนดของภาคแก้ไขดังกล่าวต้องเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 7 มิ.ย. 2566

 

ในวันนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจากสามประเทศ ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จากประเทศไทย, เครือข่าย Basel Action Network (BAN) จากสหรัฐอเมริกา, และสมาคมอาร์นิก้าจากสาธารณรัฐเช็ก จึงได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเคารพข้อบังคับของภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลและยับยั้งการส่งออกของเสียอันตรายมายังประเทศไทยโดยทันที รวมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งออกกฎหมายภายในเพื่อห้ามนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ อันจะช่วยให้ข้อกำหนดของภาคแก้ไขมีผลบังคับใช้ในกฎหมายระดับชาติด้วย

 

ปุณญธร จึงสมาน จากมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะนำเข้า อย่างไรก็ตาม ก้าวต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือการออกกฎหมายห้ามนำเข้าของเสียอันตรายในระดับประเทศ ที่ควรครอบคลุมทั้งของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลและของเสียที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในภาคผนวก 2 ซึ่งจะรวมไปถึงขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายประเภท ที่สำคัญ ภายใต้ข้อบังคับเรื่องการนำเข้าของเสียที่เข้มงวดขึ้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาศักยภาพและวางระบบในการจับกุมการลักลอบนำเข้าของเสีย การส่งคืนของเสียที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายกลับสู่ประเทศต้นทาง ตลอดจนการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ”

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศให้ข้อมูลอีกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับสมาคมอาร์นิก้าลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต. เขาหินซ้อน จ. ฉะเชิงเทรา ที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยมีการตรวจพบว่านำเข้าของเสียจากประเทศเยอรมนี เมื่อนำตัวอย่างไปตรวจก็พบการปนเปื้อนของสารมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (สารกลุ่ม POPs) ในฝุ่น ดิน และไข่เป็ด ซึ่งสารดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกิจการรีไซเคิลของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ผลตรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ของเสียอันตรายที่ถูกนำเข้ามารีไซเคิลในประเทศไทยได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแก่ประชาชนแล้ว
 

“ถึงเวลาแล้วที่รัฐภาคีของอนุสัญญาบาเซลฯ และประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ใช่รัฐภาคี เช่น สหรัฐอเมริกา ต้องยับยั้งความพยายามในการนำขยะพิษและของเสียอันตราย เช่น ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มากำจัดทิ้งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายชัดเจนต่อสาธารณะแล้วว่า ประเทศไทยจะไม่เป็นที่ทิ้งขยะของประเทศร่ำรวยอีกต่อไป” จิม พักเก็ต (Jim Puckett) ผู้อำนวยการเครือข่าย Basel Action Network กล่าวทิ้งท้าย