ฟังเสียงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม สู่เวทีเลือกตั้ง 2566

กองบรรณาธิการ เพจ "หยุดภัยมลพิษ Pollution-Free EARTH", 10 พฤษภาคม 2566

 

อีกไม่กี่วันประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ เพจหยุดภัยมลพิษ ชวนฟังเสียงของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ว่านโยบายทางสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยากเห็นเป็นแบบไหน และพวกเขาคาดหวังหรืออยากได้อะไรจากรัฐบาลชุดใหม่ที่ (หวังว่า) จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ภาพถ่าย: กานต์ ทัศนภักดิ์

 

สมจิตร ศรีลาโพธิ์ เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำพอง มองว่า ที่ผ่านมา นโยบายของพรรคต่าง ๆ ล้วนพูดดี-ดูดี แต่การกระทำหลังจากที่เป็นรัฐบาลแล้ว มักจะไม่ตรงกับนโยบายหาเสียงตอนเริ่มแรก

 

“ตั้งแต่เราเกิดมา ในการเลือกตั้งเราจะได้ยินแบบนี้มาโดยตลอด เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เขามีแต่สร้างโรงงานนั้น โรงงานนี้ ไม่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม แต่พอมีปัญหาถึงค่อยมาแก้ คนที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้าน จากความรู้สึกที่เราทำงานในชุมชน อยู่กับชุมชน มันไม่เหมือนกับที่เขาพูดเลย

 

“ถ้าพูดถึงนโยบายที่เราต้องการ อย่างแรกเลย พรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมาย ถ้ามันไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะต้องมีอำนาจในการสั่งปิด ตรวจสอบ มีมาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และถ้าโรงงานทำสิ่งแวดล้อมให้เสียหาย ไม่ว่ากับแหล่งน้ำ ลำคลอง กฎหมายจะต้องศักดิ์สิทธิ์ มีความเข้มงวด ตัดสินได้ว่าต้องยุติ หรือว่าจะต้องหาอะไรมาทดแทน รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจน

 

“ส่วนสิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ อยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อคุณลงพื้นที่ที่มีประเด็นปัญหา จะต้องเอาประเด็นปัญหานี้ไปแก้ให้สำเร็จ เราอยากเห็นว่าคุณใส่ใจชุมชน มีความจริงจังในการการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และอยากฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนที่จะกำหนดนโยบาย ควรจะต้องฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน ไม่ใช่ว่าคุณฟังพื้นที่ก็จริง แต่กลับไปให้อำนาจกับท้องถิ่นมากกว่าประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะพอเขาหมดวาระไป สิ่งที่เขาทำไว้มันก็ยังสร้างผลกระทบให้กับชุมชนอยู่

 

“นอกจากนี้ อยากฝากถึงใครก็ได้ที่กำลังจะเป็นรัฐบาลให้คำนึงถึงสิทธิของชุมชน รับฟังชาวบ้านให้มากกว่านี้ รวมถึงอยากให้เห็นความสำคัญขององค์กรชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นกลุ่มของชาวบ้าน เพราะตอนนี้เราเองก็ทำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่ จึงอยากให้รัฐให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น”

 

ภาพถ่าย: กานต์ ทัศนภักดิ์

 

ชาวบ้านจากพื้นที่ ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี ระบุว่า “อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ ให้ลงมาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำพุ เพื่อดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีความเดือดร้อนอะไร แก้ไขได้หรือไม่ อยากให้ลงมาเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะเอาปัญหานี้ไปแก้ไขต่อ นอกจากนี้ ยังอยากให้กฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้น สามารถควบคุมหน่วยงานท้องถิ่นให้เข้ามาแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังมากกว่านี้ รวมถึงจะต้องมีกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์ร่วมกับคนที่สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่”

 

ภาพถ่าย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

ชาวบ้าน หนองพะวา หมู่ 4 ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ระบุว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็นมากที่สุด คือ เรื่องของกฎหมาย

 

“อยากให้กฎหมายมีความเคร่งครัดมากกว่านี้ เพราะกฎหมายทุกวันนี้มันค่อนข้างอ่อน โดยเฉพาะ ‘กฎหมายทางสิ่งแวดล้อม’ อยากให้มีกฎหมายบังคับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ รวมถึงอยากให้มีกฎหมายการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการออกใบอนุญาต เพื่อป้องกันโรงงานจำพวก 105 106 โดยก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้ ควรจะต้องดูให้ดีก่อนว่า พื้นที่ตรงนั้นเหมาะสมที่จะตั้งหรือไม่ เพราะเมื่อออกใบอนุญาตให้เขาเข้ามาทำ พอเกิดเหตุจะเอากฎหมายมาแก้ก็ไม่ทันแล้ว ทุกวันนี้ก็บานปลายไปทั่วหมดแล้ว โดยเฉพาะภาคตะวันออก จึงอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้เข้ามาดูปัญหาตรงนี้ รวมถึงอยากให้เห็นความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะมาก”

 

ภาพถ่ายโดย: Ondrej Petrlik

 

ธมนวรรณ วรรณพิรุณ หรือ “น้ำ” ชาวบ้าน หมู่ที่ 3 ต. ท่าถ่าน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า นโยบายทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องการ คือ “อยากให้ยกเลิกกฎหมายการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงต้องมีการกำหนดตรวจสอบขยะที่เข้ามาตอนนี้ ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร โดยเฉพาะขยะที่อยู่ตามโรงงาน และตกค้างอยู่ที่กรมศุลฯ นอกจากนี้ ควรจะต้องชัดเจนในเรื่องการเอาผิดเรื่องการนำเข้ามาและครอบครองของเสียอันตรายที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

 

“สำหรับสิ่งที่คาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ อย่างแรกเลย คือ การแก้ไขข้อกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอไป ควรแก้ไขและนำมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งการเอาผิดและบทลงโทษ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษ กากของเสียจากโรงงาน การลักลอบทิ้ง รวมทั้งการยกเลิกใบอนุญาตโรงงานที่กระทำผิด ถ้าชัดเจนไม่จำเป็นต้องรอศาลสั่ง กรมโรงงานต้องสามารถยกเลิกใบอนุญาตและปิดโรงงานได้เลย”

 

ภาพถ่าย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

ภิญโญ ศรีสุทธิ ชาวบ้านจาก ต. บ้านแลง อ. เมือง จ. ระยอง เผยว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็น คือ ใครเป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ “กรณีเมื่อเป็นผู้ก่อมลพิษ จะต้องปรับให้หนัก ปรับให้ถึงขั้นขาดทุน และสิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาลชุดใหม่ คือ การออก พ.ร.บ. ควบคุมการปล่อยแฟลร์ ให้อยู่ภายในการควบคุมดูแลของหน่วยงานและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการใช้กราวด์แฟลร์เพื่อลดผลกระทบของมลพิษในอากาศ ลดผลกระทบด้านเสียง ฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงแสงไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ ตลอดจนการออก พ.ร.บ. ให้มีบทลงโทษ ในกรณีผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไข กฎ ระเบียบข้อบังคับ จะต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด รวมถึงการเอาผิดกับหน่วยงานที่เอื้อให้ผู้ประกอบการ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีทำผิดเงื่อนไข กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ

 

“และในส่วนของ พ.ร.บ. ผังเมือง จะต้องเน้นในเรื่องของกระบวนการในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละส่วน โดยเฉพาะกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องเข้มงวด มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับบริบทของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมบางประเภท จะต้องไม่อยู่ติดกับพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ในการออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมควรมีกระบวนการการติดประกาศเป็นเวลา 30-60 วัน เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยื่นหนังสือคัดค้าน ต้องชี้แจงรายละเอียดในส่วนที่ไม่ชัดเจนจนกระจ่าง ก่อนนำไปประกาศและบังคับใช้”