แบนสารแต่งเติมพลาสติก "ดีคลอเรนพลัส" และ "UV-328" แบบมีข้อยกเว้น

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 9 พฤษภาคม 2566

 

 

กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ - ที่ประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน 186 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะเลิกผลิตและใช้สารแต่งเติมพลาสติกสองชนิด ได้แก่ ดีคลอเรนพลัส (Dechlorane Plus) และ UV-328 เนื่องจากเป็นสารเคมีในกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีคุณสมบัติคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานาน สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต มีศักยภาพแพร่กระจายในระยะทางไกล และก่ออันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตได้

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารเคมีที่ใช้ในการแต่งเติมพลาสติก มีการใช้มากในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยดีคลอเรนพลัสเป็นสารหน่วงการติดไฟที่ใช้ในสายไฟและสายเคเบิ้ลยานยนต์ ฯลฯ ส่วน UV-328 เป็นสารป้องกันรังสี UV ที่ใช้ในสีทารถ ยาง พลาสติก ฯลฯ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพจากแสง รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ จึงตกลงกันว่า ในการแบนสารสองตัวนี้ ให้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์อนุญาตให้มีการใช้อะไหล่และชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมแซม (replacement parts and repair) ที่มีสารดีคลอเรนพลัสและที่มีสาร UV-328 จนกว่าอะไหล่หรือชิ้นส่วนนั้นๆ จะหมดอายุการใช้งาน (end of service life) แต่ต้องไม่เกินปี 2587

 

“การตัดสินใจในวันนี้เป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อมนุษย์และเป็นภัยต่อระบบนิเวศ” ซารา โบรเชส์ (Sarah Brosché) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายการกำจัดมลพิษนานาชาติหรือ IPEN (International Pollutants Elimination Network) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในกว่า 120 ประเทศ ซึ่งได้พยายามเรียกร้องให้มีการขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวในอนุสัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. หลังผลการประชุมได้ข้อยุติ 

 

“แต่เราก็ผิดหวังที่ผลประโยชน์ทางการเงินทำให้เกิดข้อยกเว้นที่ไม่จำเป็นและอันตราย เพราะจะทำให้ผู้คน โดยเฉพาะคนงานคัดแยกของเสีย ต้องได้รับสารอันตรายเหล่านี้ต่อไป นอกจากนี้ วัสดุที่มีสารเคมีเหล่านี้มักไปลงเอยที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงกลาง” ซาราแสดงความห่วงใย

 

ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของเสียและมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) หนึ่งในองค์กรสมาชิก IPEN ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีครั้งนี้ด้วย และก่อนหน้านี้ได้ร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการขึ้นทะเบียนสารทั้งสองโดยไม่มีข้อยกเว้น กล่าวแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน

 

“การตัดสินใจนี้เป็นก้าวสำคัญในการยกเลิกการใช้สารมลพิษตกค้างยาวนานในระดับโลก เป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารนี้ โดยเฉพาะที่เกิดจากอุตสาหกรรมของเสียและรีไซเคิล แต่ก็น่ากังวลที่การตัดสินใจนี้ยังเปิดช่องให้มีการนำชิ้นส่วนรถยนต์ที่ปนเปื้อนดีคลอเรนพลัสและ UV-328 ไปใช้เป็นอะไหล่ ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านั้นอาจมาโผล่ที่โรงงานคัดแยกของเสียในไทย”

 

ฐิติกรกล่าวต่อว่า ขั้นต่อไปของการเรียกร้องคงต้องพยายามผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลการปนเปื้อนของสารทั้งสอง กล่าวคือ รัฐภาคีควรกำหนดข้อบังคับให้มีการจัดทำทะเบียนการใช้สารเคมีทั้งสองนั้นในชิ้นส่วนใช้แล้วและผลิตภัณฑ์ หรืออาจต้องมีการกำหนดให้ทำฉลากหรือสัญลักษณ์ระบุถึงการปนเปื้อนของสารดังกล่าวบนชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ชิ้นส่วนและอะไหล่ดังกล่าวถูกส่งไปจัดการอย่างถูกวิธี

 

ทั้งนี้ ข้อตกลงล่าสุดของรัฐภาคีทั้ง 186 ประเทศปรากฏข้อความที่ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลในเชิงหลักการไว้แล้ว (เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม) ดังนั้น มูลนิธิบูรณะนิเวศก็จะร่วมกับเครือข่ายนานาประเทศ ในการผลักดันให้เกิดข้อบังคับการรายงานข้อมูลในทางปฏิบัติที่โปร่งใสที่สุดต่อไป

 

“สำหรับประเทศไทยเอง เราควรต้องหันกลับมามองอุตสาหกรรมรีไซเคิลในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันยังขาดมาตรการที่รัดกุมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานและชุมชนรอบข้าง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรต้องเข้ามากำกับดูแลอุตสาหกรรมรีไซเคิลอย่างจริงจัง และศึกษาเพิ่มเติมว่าวัสดุที่โคจรอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของเรานั้น มีสารมลพิษตกค้างยาวนานปนเปื้อนอยู่อีกกี่ตัว” ฐิติกรกล่าว

 

อนึ่ง อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นในปี 2544 เพื่อแก้ไขปัญหาสารมลพิษตกค้างยาวนานเป็นการเฉพาะ ทุกๆ สองปีจะมีการประชุมรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยมักจัดร่วมกับการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาอีกสองฉบับ นั่นคือ อนุสัญญาบาเซลซึ่งควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดน และอนุสัญญารอตเตอร์ดัมซึ่งควบคุมการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายข้ามแดน  การประชุมสามอนุสัญญานี้จึงเรียกว่า BRS COPs (Basel-Rotterdam-Stockholm Conference of Parties) สำหรับการประชุมของปี 2566 นี้จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 1 – 12 พฤษภาคม

 

ในการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ แต่ละครั้ง มักจะมีการเสนอสาร POPs ตัวใหม่ให้รัฐภาคีกำหนดเป็นสารที่ต้องกำจัดหรือควบคุม ซึ่งในปีนี้ นอกจากดีคลอเรนพลัสและ UV-328 ยังมีสารกำจัดศัตรูพืช Methoxychlor ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นสารที่ต้องเลิกผลิตและใช้ แต่สำหรับสารตัวนี้ รัฐภาคีเห็นพ้องกันว่าให้กำจัดโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปก็ได้ห้ามใช้สารตัวนี้มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม

- ชวนอ่าน: รู้จัก “POPs” – สารมลพิษตกค้างยาวนาน กับความพยายามแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ https://www.facebook.com/108056682577538/posts/pfbid02FSLwP5af3AfPRNZSN4amAJoyeQRn52aUVE7NiPiF7cLUB4pHGNgupVAXp7qS6MUHl/?mibextid=Nif5oz

- มูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมแถลงจุดยืน: ยกเลิก การใช้สารดีคลอเรนพลัส โดยไม่มีข้อยกเว้น

https://www.facebook.com/108056682577538/posts/pfbid02cnntAvK2yzBKmzjTsxMKsTdLVTkELYesGJTM9Y5LYFC9ih6tTTRSX6cfSjznEtNUl/?mibextid=Nif5oz