ครม. มีมติห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
ครม. มีมติห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
22 ก.พ. 2566
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เมื่อวานนี้ (21 ก.พ. 2566) อนุมัติมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป – EARTH ชวนติดตามผลทางปฏิบัติจริง พร้อมเตือน... ต้องเฝ้าระวังว่าจะเกิดการ “ปูด” ในส่วนของขยะพลาสติก ชนิดอื่นหรือไม่
รองโฆษกรัฐบาลเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบต่อมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกแก่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร และโรงงานในพื้นที่ทั่วไปเป็นเวลา 2 ปี ก่อนการยกเลิกทั้งหมดในปี 2568 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1) การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร จะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) นั่นคือ ให้นำเข้าได้ในปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริงส่วนปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าในปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริง
ทั้งนี้ ในการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น
2) การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก, สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด
ต่อเรื่องนี้ ปุณญธร จึงสมาน เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ให้ความเห็นว่า มติ ครม. นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะนำเข้าของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการนำเข้าเศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากร 3915 เป็นจำนวนมากมาโดยตลอด โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน โดยที่เศษพลาสติกนำเข้าถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งบางแห่งได้ก่อปัญหามลพิษแก่ชุมชนที่อาศัยรอบข้างอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. นี้เป็นการยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกเฉพาะในพิกัดศุลกากร 3915 เท่านั้น จึงต้องมีการติดตามดูว่า จะมีการนำเข้าพลาสติกในพิกัดศุลกากรอื่นๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ ควรต้องมีการติดตามว่ามาตรการควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากร 3915 ในช่วงสองปีข้างหน้า รวมไปถึงการห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2568 จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันระบบการตรวจสอบตู้สินค้าของไทยอยู่ภายใต้ระบบการค้าเสรี จึงไม่ได้มีการตรวจตู้คอนเทนเนอร์ 100% ใช้วิธีสุ่มตรวจเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่จะมีการลักลอบนำเข้า
ดังที่เกิดกรณีการลักลอบนำเข้าขยะเทศบาลจากประเทศออสเตรเลียในปริมาณสูงถึง 130 ตันในปี 2565 ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2562 แล้วก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการนำเข้าพลาสติกได้โดยตรง หน่วยงานรัฐจึงควรร่วมมือกับภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการประสานงานกับเครือข่ายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคประชาสังคม เนื่องจากการค้าขยะที่ผิดกฎหมายเป็นปัญหาข้ามชาติที่มีกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ สนใจติดตามอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
“ที่สำคัญที่สุด หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลเห็นชอบ ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมการประกอบกิจการรีไซเคิลพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ประสบปัญหามลพิษจากโรงงานที่ผลิต รีไซเคิล หรือเผาพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์ปัญหาอยู่ในระดับที่แลวร้ายมาก” ปุณญธรจากมูลนิธิบูรณะนิเวศย้ำปิดท้าย