ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ทุเลาการบังคับคดีน้ำพุ


ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ทุเลาการบังคับคดี "น้ำพุ"

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 

22 ก.พ. 2566

 

 

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ทุเลาการบังคับคดี ตามที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้เมื่อปี 2563 ให้บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 1 และนายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล จำเลยที่ 2 รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนและการกำจัดสารพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามคำฟ้องของนายธนู งามยิ่งยวด กับพวก รวม 3 คน ซึ่งนี่เป็นการยกคำร้องตามการอุทธรณ์ของจำเลยเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ส่วนประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ยังไม่มีการพิจารณา

 

เช้าวานนี้ (21 ก.พ. 66) ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.30 น. ประชาชน “กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ” ต. น้ำพุ อ.เมือง จ. ราชบุรี กว่า 30 คน เดินทางมายังศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ถนนรัชดาภิเษก เพื่อร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ตามที่จำเลยและโจทก์ต่างได้ยื่นอุทธรณ์ไว้เมื่อวันที่ 19 และ 21 พฤษภาคม 2564 ตามลำดับ ด้วยหวังว่า ศาลจะมีคำสั่งในส่วนที่ทางกลุ่มประชาชนอุทธรณ์

 

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลอุทธรณ์ก็ได้เริ่มอ่านคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง โดยที่จำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ขอทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลด้วยเหตุผลว่า จำเลยทั้งสองประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์ทั้งสามและสมาชิกกลุ่มไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองเป็นโรงงานระบบปิดไม่มีการปล่อยน้ำหรือระบายน้ำออกสู่ลำห้วยหรือแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ หลุมฝังกลบเป็นหลุมฝังกลบขยะหรือสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย และมีการก่อสร้างหลุมฝังกลบตามหลักวิชาการและมาตรฐานการก่อสร้าง สำหรับสารพิษที่กรมควบคุมมลพิษตรวจพบว่าสูงเกินค่ามาตรฐานบริเวณจุดเก็บน้ำรอบโรงงานเป็นส่วนผสมชนิดหนึ่งของยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตร สมาชิกกลุ่มบางส่วนไม่ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้างและไม่ได้เกิดจากการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสอง จึงขอให้ศาลยกฟ้อง

 

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์ของจำเลย โดยไม่ให้ทุเลาการบังคับคดีแก่จำเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลมาแล้ว 2 ครั้ง และศาลก็ได้พิจารณายกคำร้องไปแล้วทั้ง 2 ครั้ง ดังนั้นจึงหมายความว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคงมีผลบังคับต่อจำเลยไม่เปลี่ยนแปลง

 

ในส่วนการยื่นคำอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่อีกครั้งในประเด็นค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามและสมาชิกกลุ่มนั้น ศาลยังไม่กำหนดวันพิพากษา และยังไม่นัด โดยจะออกหมายศาลเพื่อแจ้งวันพิจารณาให้ทราบต่อไป

 

ผลที่สำคัญของคำสั่งศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ก็คือ ทำให้การยึดทรัพย์จำเลยที่ดำเนินการอยู่สามารถทำต่อไปได้ ซึ่งการยึดทรัพย์จำเป็นต้องเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยได้อ้างว่าไม่มีทุนทรัพย์จ่ายค่าสินไหมแก่โจทก์และสมาชิกกลุ่ม ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีและทนายฝ่ายโจทก์จึงดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยไปแล้วบางส่วนเพื่อรวบรวมเงินเป็นค่าสินไหม

 

สำหรับทรัพย์สินของจำเลยที่ยึดมาแล้วได้แก่ที่ดินจำนวน 19 แปลง มีมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท

 

ในฐานะทนายความของฝ่ายโจทก์ สมชาย อามีน ให้ความเห็นต่อคดีนี้ว่า การกระทำผิดของจำเลยได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ซึ่งส่งผลให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เหมือนในอดีต จึงเกิดความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างมาก เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาออกมาแล้ว ถือว่าคำพิพากษามีผลผูกพันไปตลอดจนกว่าคดีจะถึงที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อจำเลยนำเงินมาชำระต่อศาลแล้ว ศาลควรอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและเงินชดเชยเพื่อระงับความเดือดร้อนไปก่อน แม้ว่าคดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม หากในอนาคตมีการกลับคำพิพากษาและจำเลยเกิดพ้นจากความผิด ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำเงินมาคืน การปล่อยให้โจทก์รอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ยิ่งเป็นการทำให้โจทก์ที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งเดือดร้อนจากปัญหามลพิษมานานหลายปีแล้ว มีความเสียหายเพิ่มขึ้น

สมชาย กล่าวต่อว่า “การออกแบบให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ด้านสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้าน และคดีนี้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศ การดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจึงควรมีความรวดเร็วและไม่ควรจะต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน”

ด้านธนู งามยิ่งยวด โจทก์ที่ 1 และประธานกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ กล่าวว่า “ยิ่งกระบวนการจ่ายเงินชดเชยล่าช้าเท่าไหร่ ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะบานปลายมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พวกเราก็รู้สึกดีใจที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของฝ่ายจำเลย และทางกลุ่มฯ จะขอต่อสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อการเยียวยาและชดเชยที่เป็นธรรม ตลอดจนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีดังเดิม”

 

อนึ่ง การพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยศาลแพ่งได้พิพากษาคดีแบบกลุ่มตามคำฟ้องของนายธนู งามยิ่งยวด กับพวกรวม 3 คน สั่งให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้ง 3 ราย และสมาชิกกลุ่มในหมู่ 1 ต.น้ำพุ รวมทั้งหมดประมาณร้อยกว่าล้านบาท ได้แก่ (1) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล (2) ค่าเสื่อมสุขภาพ อนามัย และจิตใจ (3) ค่าทรัพย์สินเสียหาย (4) ค่าพืชผลและผลผลิตเสียหาย นอกจากนั้น จำเลยทั้งสองจะต้อง “ร่วมกันแก้ไขดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ดินของโจทก์ทั้งสามและสมาชิกกลุ่มและคลองสาธารณประโยชน์รอบพื้นที่โรงงานให้กลับสู่สภาพเดิมปราศจากกลิ่นเหม็นและสารพิษด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองจนกว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ” รวมถึงการรับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม เงินรางวัลแก่ทนายความ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามบัญชีที่ฝ่ายโจทก์ยื่นต่อศาลด้วย

 

...

 

อ่านเพิ่มเติม

“เปิดชัด ๆ รากปัญหาและเส้นทางต่อสู้: คดี “น้ำพุ-แวกซ์กาเบ็จ”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, 2 พฤศจิกายน 2565 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid06uUkFAps95dE4UPqLjafoSyuWU65iNDbgCkB1h8uyu8iMbmk9Y8cCz7vo2W1RUrel&id=108056682577538&mibextid=Nif5oz

“สองปีคดีน้ำพุ ชัยชนะที่ไปไม่ถึงไหน และการฟื้นฟูที่ดูริบหรี่ สาเหตุและทางออกที่พอมีอยู่...”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, 24 ธันวาคม 2565 https://earththailand.org/th/article/6808