กรอ.-คพ. รับปากจะลุยขจัดมลพิษ-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ต. น้ำพุ สร้าง “ราชบุรีโมเดล”
(25 ม.ค. 66) อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมติดตามความคืบหน้าขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรม ในโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จ. ราชบุรี โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานในจังหวัด และท้องถิ่น รวมถึงประชาชนผู้รับผลกระทบ กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับปากเข้าบำบัด-กำจัดของเสีย หากบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ดำเนินการไม่เสร็จภายในเดือนนี้ พร้อมสานความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม-เยียวยาประชาชน
.
การติดตามตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามลพิษใน ต. น้ำพุ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้า โดยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าตรวจดูสภาพภายในโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินการขนย้ายกากของเสียที่มีอยู่เป็นจำนวนมากภายในโรงงาน ส่งออกไปกำจัดอย่างถูกวิธี จากนั้นช่วงบ่าย ได้มีการประชุมคณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ณ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, ตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี, นายก อบต. น้ำพุ, และอีกหลายหน่วยงานจากส่วนกลางและท้องถิ่น พร้อมทั้งประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน, สื่อมวลชน และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ร่วมประชุม
.
ช่วงต้นของการประชุมได้มีการเท้าความถึงปัญหาเรื่องการขนย้ายของเสียที่ผ่านมาว่า บริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ล้มเหลวในการขนย้ายของเสียออกให้หมดตามกำหนดเวลามาแล้วหลายครั้ง จนล่าสุดในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา หน่วยราชการจึงได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ขนย้ายของเสียทั้งหมดออกจากโรงงานภายในวันที่ 31 มกราคม 2566 หรืออีกราวหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า
.
ข้อมูลที่รายงานในการประชุมบ่ายวานนี้ ระบุว่า บริษัทได้ขนของเสียที่ถูกเพลิงไหม้ออกไปแล้ว 1074.42 ตัน และของเสียที่ยังไม่ถูกเพลิงไหม้ออกไปแล้ว 10.44 ตัน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนประชาชนในพื้นที่กล่าวว่า ดินปนเปื้อนในจุดที่เกิดเพลิงไหม้ยังขนไปไม่หมด ในส่วนของของเสียที่ยังไม่ถูกเพลิงไหม้ยังตกค้างในโรงงานอีกเป็นปริมาณมาก
.
ทั้งนี้ ความเป็นมากรณีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนปัญหามลพิษจากโรงงานรีไซเคิลและหลุมฝังกลบของเสียของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ มากว่า 20 ปี ต่อมาประชาชนในพื้นที่ได้ฟ้องโรงงาน และศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อปี 2563 ให้จำเลยเยียวยาความเสียหายทางการเกษตรและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากนั้น กระบวนการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไม่มีความคืบหน้า ต่อมาได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งที่ 7 ในพื้นที่โรงงานแห่งนี้ จนนำมาสู่การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งเคลื่อนย้ายของเสียออกจากโรงงาน กอปรกับประชาชนใน ต. น้ำพุ ได้เคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเดือนตุลาคม 2565 จึงทำให้เกิดการดำนเนงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
.
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในที่ประชุมว่า หลังจากได้รับปากกับประชาชนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทางกรมฯ ก็ได้ดำเนินการวางแผนและเตรียมงบประมาณเพื่อจะเข้าดำเนินการเรื่องการขจัดมลพิษและฟื้นฟูพื้นที่เอง ทั้งเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้าง ตลอดจนค้นหาและกำจัดแหล่งมลพิษที่ปนเปื้อนใต้ดิน ฟื้นฟูดิน น้ำใต้ดิน และสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงาน หลังจากนั้นก็จะดำเนินการฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการโรงงาน
.
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมย้ำในที่ประชุมมากกว่าหนึ่งครั้งว่า มีความตั้งใจที่จะดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกรณีนี้อย่างจริงจัง เพื่อยกระดับให้เป็นตัวอย่างในลักษณะ “ราชบุรีโมเดล” โดยจะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการประกอบกิจการ และไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชน
.
ขณะที่ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรณีนี้จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กรม ในทุกด้าน เพื่อแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมานานให้สิ้นสุดลง
.
ทางด้านประชาชนในพื้นที่กล่าวว่า ที่ผ่านมากระบวนการเคลื่อนย้ายของเสียของโรงงานได้สร้างความเดือดร้อนทางกลิ่นเหม็นให้กับประชาชน แต่ท้ายที่สุดก็ดูจะไม่คืบหน้าอะไรเลย จึงหวังว่าการเข้ามาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมหลังสิ้นสุดเดือนมกราคมจะส่งผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป
.
ต่อมา ที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงความคืบหน้าในการสืบหาสาเหตุของเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสถานีตำรวจภูธรราชบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า ล่าสุดกองพิสูจน์หลักฐานได้พิจารณาว่า ที่จุดเกิดเหตุ พบวัตถุที่อาจลุกติดไฟได้ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าเหตุเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากมีบุคคลนำความร้อนเข้าไปทำให้เกิดการจุดติดของเพลิง ซึ่งฝ่ายประชาชนได้ตั้งคำถามขึ้นทันทีว่า หมายถึงว่ามีการวางเพลิงใช่หรือไม่ ฝ่ายตำรวจได้ให้คำตอบว่าคดีนี้ยังอยู่ในขั้นการสืบสวน ซึ่งตัวแทนจากสถานีตำรวจให้ความเห็นส่วนตัวว่า การสืบสวนน่าจะเสร็จสิ้นอีกไม่นาน ไม่ถึงเดือนน่าจะสรุปได้
.
ช่วงท้ายของการประชุม ได้มีการกล่าวถึงแนวทางในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ในประเด็นนี้ ธนู งามยิ่งยวด เจ้าของสวนลำไย ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันตนทำการเกษตรแทบไม่ได้ การดำเนินการบำบัดฟื้นฟูในแต่ละระยะก็ขอให้ทำไป แต่ระหว่างนี้ก็อยากให้ช่วยหาน้ำมาให้ตนได้ใช้ทำการเกษตรด้วย
.
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน ตนได้มีการปรึกษากับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าจะมีการนำงบประมาณในส่วนใดมาใช้ในการหาแหล่งน้ำมาให้ประชาชนได้ใช้ ปิ่นสักก์กล่าวด้วยว่า หากมีการนำงบประมาณมาขุดหาแหล่งน้ำภายใต้กรณีนี้ ไม่ว่าจะขุดตรงไหนก็จะต้องมีการจัดทำโครงสร้างที่จะนำน้ำมาให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน
.
อนึ่ง ตลอดการประชุมดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่ได้กล่าวหลายครั้งถึงความยืดเยื้อของปัญหามลพิษจากโรงงานของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จฯ ความซ้ำซากของเหตุเพลิงไหม้ และหวังว่าการเข้ามาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานอื่น ๆ ในครั้งนี้จะทำให้ปัญหาในพื้นที่จบลงเสียที ซึ่งจุลพงษ์กล่าวยืนยันว่า ตนเห็นความเดือดร้อนของประชาชน มองว่าเป็นข้อเท็จจริง และเข้าใจว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐอาจทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนสั่นคลอน แต่ขอยืนยันว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่มาร่วมงานมีเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้น
.
หลังการประชุมจบลง เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ต. น้ำพุ มานาน กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมในวันนี้มีนัยสำคัญสองประการ หนึ่งคือผลของการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่นำมาซึ่งการจับมือทำงานร่วมกันของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งหากดำเนินการได้จริงก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม อีกประการหนึ่ง มูลนิธิฯ เห็นว่า นี่ถือเป็นมิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหวังว่าการร่วมมือนี้จะนำไปสู่การฝ่าข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การสร้างต้นแบบในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งนักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคส่วนอื่น ๆ ควรเข้ามาช่วยกันจับตาและติดตามความคืบหน้าที่สำคัญนี้