อ่าวพังงา ออกกฎห้ามนำพลาสติกเข้าอุทยานฯ 25 พ.ย.นี้ (10 ก.ย. 62)
PPTV 10 กันยายน 2562
อ่าวพังงา ออกกฎห้ามนำพลาสติกเข้าอุทยานฯ 25 พ.ย.นี้
จ.ตรัง มีการศึกษาไมโครพลาสติกในปลาทู พบปลาทู 1 ตัว มีไมโครพลาสติก 78 ชิ้น ขณะที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ออกกฎเข้ม ห้ามนำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าเขตอุทยานฯ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ บังคับใช้ 25 พฤศจิกายนนี้
เมื่อวันที่ (10 ก.ย.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นำอุปกรณ์การเก็บขยะตักขยะทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึง 30 มิถุนายน พบปริมาณขยะที่จัดเก็บได้กว่า 85 ตัน แต่เมื่อรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 พบปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ รวมกว่า 201 ตัน ซึ่งเหตุนี้ นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จึงได้ออกกฎห้าม นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติพังงา โดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ครั้งแรก!! ผลวิจัยพบไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์
ผลวิจัยพบเกลือกว่า 90% ปนเปื้อนไมโครพลาสติก
WHO ยันไมโครพลาสติกในน้ำดื่มไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับ บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ห้ามนำเข้าเขตอุทยาน ประกอบด้วย กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร จานพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด เป็นต้น
ทั้งนี้พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชนในเขตใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ถูกคลื่นลมซัดเข้ามาในเขตอุทยานฯ ส่วนขยะที่มาจากนักท่องเที่ยวนั้นพบว่ามีปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นต้องปลูกจิตสำนึกพี่น้องประชาชนให้ทิ้งขยะน้อยลง หรือมีการคัดแยกขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางด้วย ในส่วนที่ทางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาสามารถทำได้คือการควบคุมดูแลการทิ้งขยะในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และการจัดเก็บขยะในทะเลให้มีปริมาณน้อยลง จึงออกกฎดังกล่าวขึ้น
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง โพสตข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 เวลา 08.30 - 09.30 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง และนักศึกษาสหกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาด อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ระยะทางหลายสิบเมตร พบขยะชายหาดดังนี้
- แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic Cups) 42 ชิ้น 1 กิโลกรัม
- ขวดน้ำพลาสติก เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดนม ขวดนมเปรี้ยว 17 ชิ้น 1 กิโลกรัม
- หลอดพลาสติก 119 ชิ้น
- ไฟแชค 11 ชิ้น
- หลอดน้ำแข็งหวานเย็น (Dessert Plastic Tube) 16 ชิ้น
- ฝาขวด ฝาบรรจุภัณฑ์พลาสติก 56 ชิ้น
- ช้อน ส้อม พลาสติก 15 ชิ้น
- ถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ 1.5 กิโลกรัม
- พลาสติกอื่นๆ เช่น ตะกร้า ของเล่น ฯลฯ 4.50 กิโลกรัม
- โฟม (Styro Foam) 700 กรัม
และอื่น ๆ อีกหลายรายการ รวมแล้ว 278 ชิ้น น้ำหนัก 12.66 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จังหวัดตรัง โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวานนี้ (9 ก.ย.62) เรื่อง การศึกษาไมโครพลาสติกในปลาทู บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยได้เก็บตัวอย่างปลาทูจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู ผลออกมาเป็นที่น่าตกใจ คือ มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทู
โดยปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 กรัม หรือความยาวประมาณ 17.46 เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะเฉลี่ยสูงถึง 78.04 ชิ้นต่อตัว บวกลบ 6.5 ชิ้นต่อตัว คือ บางตัวมีไมโครพลาสติกสูงถึง 84.5 ชิ้นต่อตัวเลยทีเดียว
ขณะที่ไมโครพลาสติกในปลาทูนี้ จะประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย สีดำ น้ำเงิน แดง และเขียว ชิ้น สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96