ชาวบ้านต้อนผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ยกเลิกคำขอประทานบัตรเหมืองแร่2บริษัทเอกชน แฉพิรุธอื้อ!หมกเม็ดทำเหมืองแร่เถื่อน (9 ก.ย. 62)

ไทยโพสต์ 9 กันยายน 2562
ชาวบ้านต้อนผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ยกเลิกคำขอประทานบัตรเหมืองแร่2บริษัทเอกชน แฉพิรุธอื้อ!หมกเม็ดทำเหมืองแร่เถื่อน

9 ก.ย.62 - กลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่  ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านใน ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ คัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ในพื้นที่ ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยหนังสือดังกล่าว ระบุใจความว่า สำนักงานอุสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีหนังสือเชิญเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร ทำเหมืองแร่ ประเภทที่ 1 ชนิดทรายแก้ว ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2561 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวขาวคลังแก้ว เนื้อที่ 32-2-88 ไร่ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และ คำขอประทานบัตรที่ 2/2561 ของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด เนื้อที่ 40-2-20 ไร่ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 56 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ไม่ครอบคลุมประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทำเหมืองแร่ทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา  กลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงาม กับผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายสนั่น พงษอักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยืนยันรับข้อเสนอของชาวบ้านทุกข้อ พร้อมทั้งจะตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการลักลอบขุดแร่ก่อนได้รับประทานบัตร แต่กลับพบว่าไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ มีเพียงเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมที่เดินทางไปในพื้นที่และมีการข่มขู่ชาวบ้าน แต่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบการลักลอบขุดดิน โดยอ้างว่าเป็นเพียงการขุดดินถมดินเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นจุดที่จะมีการทำเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ยังเป็นพื้นที่ตาน้ำของชาวบ้าน ถือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของชุมชนที่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งถ้ามีการทำเหมืองก็อาจจะมีผลต่อการใช้น้ำของชาวบ้านและเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน รวมทั้งของเสียก็จะไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและน้ำดังกล่าวก็จะไหลลงตามลำน้ำ ลำห้วย ในพื้นที่ ซึ่งผลที่ตามมาก็จะเป็นปัญหามลพิษที่ชาวบ้านจะได้รับโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีความไม่ชอบมาพากลในการขอประทานบัตรที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหลายประการ อาทิ 1.บริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองประเภทที่ 1 ชนิดทรายแก้ว เป็นระยะเวลา 20 ปี เนื้อที่ 40-2-20 ไร่ โดยมีปริมาณแร่สำรอง 540,500 ตัน ซึ่งจากการกล่าวอ้างในเวทีรับฟังความคิดเห็นว่า บริษัทจะมีการขนแร่ 10 รอบต่อวัน เมื่อนำมาคำนวนตามปริมาณความจุของรถบรรทุก 10 ล้อ ที่ความจุไม่เกิน 25 ตัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปี 11 เดือน 7 วัน เท่านั้นในการดำเนินการทำเหมืองจนแล้วเสร็จ 

แม้กระทั่งห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวขาวคลังแก้ว ที่ได้ยื่นคำขอประทานทำเหมืองประเภทที่ 1 เนื้อที่ 32-2-88 ไร่ ซึ่งเป็นแร่ชนิดเดียวกัน และยังมีพื้นที่คำขออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น ได้ระบุในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นว่า มีปริมาณแร่สำรองในพื้นที่คำขอ 333,744 ตัน เมื่อนำมาคำนวนจะใช้ระยะเวลาในการทำเหมืองจนแล้วเสร็จเพียง 3 ปี 8 เดือน เท่านั้น ซึ่งคำถามใหญ่ก็คือ เหตุใดทางบริษัทจึงต้องขอประทานบัตรทำเหมือง 20 ปี แล้วปีที่เหลือจะเอาแร่ทรายแก้วมาจากไหน

2.กรณีการเข้ามาซื้อหน้าดินจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยได้ขอซื้อในราคาไร่ละ 3,000 บาท ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า เป็นการขอซื้อหน้าดินเพื่อนำไปถมพื้นที่ แต่กลับพบว่ามีการนำดินดังกล่าวไปกองไว้ในพื้นที่เขตคำขอประทานบัตร ทว่าดินดังกล่าวไม่ใช่ดินธรรมดา แต่เป็นแร่ทรายแก้ว ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะใช้กระบวนการขุดดินและถมดินตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ไม่ได้ การหลบเลี่ยงในการชำระค่าภาคหลวงแร่จากกระบวนการขุดดินถมดินเหล่านี้ จะต้องมีการชำระค่าภาคหลวงแร่ด้วยหรือไม่ รวมทั้งการนำเอาแร่จากพื้นที่อื่นนอกเขตคำขอประทานบัตรมานั้นจะต้องรวมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เขตคำขอประทานบัตรด้วยหรือไม่ อย่างไร  เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแสดงเขตคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วที่เอกชนยื่นต่ออุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

ทั้งนี้บริษัทเอกชนทั้ง 2 ราย ได้มีการดำเนินการทำเหมืองก่อนการได้รับอนุญาตประทานบัตร หรือมีการลักลอบทำเหมืองแร่เถื่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านตั้งคำถามต่อการกระทำและการดำเนินการของบริษัทที่มีความไม่ชอบมาพากลหลายประการ และอาจเข้าข่ายการลักลอบทำเหมืองแร่ทรายแก้วโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดำเนินการในการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

ดังนั้นกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแร่ระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาต การต่ออายุ การโอน การเพิกถอน หรือการกำหนดเงื่อนไขใดๆ เกี่ยวกับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ประเภทที่ 1ให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบการลักลอบทำเหมืองแร่เถื่อนในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงาม ทั้งการขุดแร่ทรายแก้วจากพื้นที่นอกคำขอประทานบัตรมาไว้ในแปลงขอประทานบัตร และการขนแร่ทรายแก้วออกไปยังโรงแต่งแร่นอกพื้นที่ โดยที่ยังไม่ได้ประทานบัตร 

2.ขอให้ยกเลิกคำขอประทานบัตรที่ 1/2561 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวขาวคลังแก้ว เนื้อที่ 32-2-88 ไร่ และ คำขอประทานบัตรที่ 2/2561 ของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด เนื่องจากการแสดงเขตคำขอประทานบัตรไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อีกทั้งยังมีการขุดทรายจากนอกพื้นที่คำขอประทานบัตรมาไว้ในพื้นที่ขอประทานบัตร อาจเข้าข่ายการทำเหมืองแร่เถื่อน อีกทั้งจุดที่ตั้งเของพื้นที่ขอทำเหมืองแร่และโรงแต่งแร่ เป็นพื้นที่ตาน้ำของชาวบ้าน เป็นบ่อน้ำตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชน ให้ชาวบ้านได้ใช้เพื่อทำการเกษตร และใช้ในการดำรงชีวิต.

กาฬสินธุ์ เหมืองแร่เถื่อน คำขอประทานบัตร เหมืองแร่ทรายแก้ว เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ พรบ.แร่-2560