ERS ยื่นจม.เปิดผนึกถึง “สนธิรัตน์” กบง. อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า1,400MW ไร้ธรรมาภิบาล (24 ก.ค. 62)
energynews 24 กรกฎาคม 2562
ERS ยื่นจม.เปิดผนึกถึง “สนธิรัตน์” กบง. อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้า1,400MW ไร้ธรรมาภิบาล
cof
กลุ่ม ERS เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีพลังงานใหม่ ใน6เรื่องสำคัญเน้นประเด็นร้อนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตตฺ์ ส่อเอื้อประโยชน์เอกชน บั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐ
ในช่วงเย็นของวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนหรือ ERS จัดงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS: “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” ที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนนำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่ม ERS ดร.คุรุจิต นาครทรรพ นายมนูญ ศิริวรรณ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ และ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร มาร่วมพูดคุยและเสวนาบนเวทีเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานสู่ความยั่งยืน ก่อนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงมุมมองต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ERS เห็นว่าได้มีการวางนโยบายแก้ไขปัญหาและปฏิรูปพลังงาน ในหลายๆ ประการที่เป็นไปในทิศทางที่ดีและสอดคล้องกับข้อเสนอหลายข้อของ ERS ที่เคยเสนอไว้ต่อสาธารณชน อันทำให้เกิดความมั่นคง อาทิ การเปิดประมูลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ ที่สัมปทานปิโตรเลียมใกล้จะหมดอายุ (กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ และกลุ่มแหล่งก๊าซบงกช) นอกจากนี้ยังมีการ ออกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ การเปิดให้บุคคลภายนอกใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ และลดการถือหุ้นของ ปตท.ในโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าวว่า “ภาคพลังงานไทยยังมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้มีความอ่อนแอลงและมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ยังมีจุดที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ เช่นการอนุมัติต่ออายุและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง (1400 MW) แทนโรงเดียว (700 MW) ที่หมดอายุลงโดยไม่มีการประมูล และการเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซ LNG โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผน PDP 2018 ในส่วนของราคาพลังงานยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วนและไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินควร”
ทั้งนี้ ERS ได้เสนอว่าหากรัฐบาลจะใช้ดุลพินิจให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนรายใด เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่มีการประมูลแข่งขันในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ เช่น ราคาขายไฟฟ้า ก็ควรจะอธิบายว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้บริโภคอย่างไร ทำนองเดียวกันการประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก็ควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน
ในด้านธรรมาภิบาล ERS ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท.แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว เพราะก๊าซส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยส่งผ่านราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภค สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ระบบผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer)
ERS เสนอให้ปรับโครงสร้าง กฟผ. โดยยังคงให้ควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใส อันจะเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ การเชื่อมโยงระบบและการสั่งเดินเครื่องมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อผู้บริโภคและความเข้มแข็งโดยรวมของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ยังเสนอให้เตรียมการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าและปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันโดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า (Retail Competition) โดยริเริ่มโครงการนำร่อง (sandbox) ให้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology เช่น Block Chain) เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้อาจเริ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีความพร้อม และในระยะต่อไปจึงเปิดให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ
ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ERS เห็นว่ารัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเฉพาะเมื่อมีวิกฤติราคาน้ำมันในตลาดโลกและใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ควรให้น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 กับ น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และลดการนำเข้า โดยทยอยลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนด โดยมีเป้าหมายให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดโลกได้ ERS เห็นควรเลิกการอุดหนุนแบบถาวรในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชนิด E85 และ B20 เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุน และไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้แข่งขันได้
การกำหนดนโยบายรัฐในด้านต่างๆควรคำนึงถึงมิติด้านพลังงานเสมอ และ ERS เห็นควรให้มีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายพลังงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลักดันการเข้าร่วมในกลุ่มภาคีเพื่อสร้างความโปร่งใสในกิจการสำรวจและผลิตทรัพยากรธรรมชาติ (ปิโตรเลียมและสินแร่) Extractive Industries Transparency Initiative: หรือ EITI ที่ประเทศไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2558 ให้นำไปสู่ขั้นปฏิบัติให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีของผู้มีส่วนได้เสีย
นอกจากนั้น ERS เห็นว่าการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข แต่มาตรการตามข้อตกลง COP21 ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับกับมาตรการในระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นโยบายการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงจึงควรคำนึงถึงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้กรอบของ UNFCCC
โดยสรุปทางกลุ่มฯ ได้เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนฉบับเต็มที่เตรียมยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่ประกอบไปด้วย (1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ราคาพลังงานประเภทต่างๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค (3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (4) กระบวนการในการกำหนดนโยบาย (5) การสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน และ (6) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ทั้งนี้กระทรวงพลังงานควรเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชนซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน
กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนประกอบด้วยบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวพันกับสาขาพลังงานหรือการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเวลายาวนาน เปิดตัวอย่างเป็นทางการท่ามกลางกระแส “การปฏิรูปพลังงาน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสสังคมในการผลักดันการปฏิรูปประเทศ มีแนวทางที่สำคัญในการปฎิรูป ได้แก่
1. ขจัด- คอร์รัปชั่น สร้างธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพในการบริหารพลังงาน
2. ลด- ความเหลื่อมล้ำในสังคมและให้ความเป็นธรรมผู้ใช้ทุกกลุ่ม
3. สร้าง- ประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความมั่นคงในการจัดหา และ
4. พัฒนา- พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดและดำรงอยู่ได้จริง นำเสนอข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจด้านพลังงาน และเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานต่อสาธารณชน
ERS ได้เผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ (Facebook Page) ภายใต้ชื่อกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการจัดกิจกรรมเสวนาทางด้านพลังงานในวาระและโอกาสที่สำคัญ และได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่ม ERS