เครือข่ายประชาชนชี้ จีนปล่อยน้ำโขงกระทบระบบนิเวศแม่น้ำโขง (24 ก.ค. 62)

ประชาชาติออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2562
เครือข่ายประชาชนชี้ จีนปล่อยน้ำโขงกระทบระบบนิเวศแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า จากกรณีแม่น้ำโขงเคยเหือดแห้งลงอย่างต่อเนื่องช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เพราะประเทศจีนลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 300-400 กิโลเมตรนั้น ล่าสุดระดับน้ำหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ที่เคยมีระดับไม่ถึง 2 เมตรได้ลึกถึงระดับ 2.86 เมตรแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง เขื่อนจี่งหง ได้ปล่อยน้ำลงมาในปริมาณ 1,587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและในวันที่ 24 ก.ค.ปล่อยลงมาในปริมาณ 1,620 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้การสัญจรไปมาของเรือสินค้า เรือท่องเที่ยวและเรือโดยสารทั่วไปเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงปีนี้ถือว่ามีความผันผวนอย่างมากโดยมีสาเหตุมาจากการกักเก็บน้ำจากเขื่อนในประเทศจีนเป็นสำคัญ โดยพบว่าในฤดูฝนจะกักเก็บน้ำเอาไว้มากถึงร้อยละ 70 และในฤดูแล้งก็จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนลงมาร้อยละ 30 ซึ่งทำให้ระดับน้ำที่เคยเกิดขึ้นตามปกติไม่เป็นไปตามธรรมชาติอีกต่อไป โดยในฤดูแล้งกลับมีน้ำมากจนโขดหินที่เคยเป็นแหล่งตะไคร้น้ำ ที่เป็นอาหารของปลาและแหล่งอาศัยขยายพันธุ์ของนกบางประเภทจมน้ำหมด ส่วนในฤดูน้ำหลากกลับเกิดภาวะน้ำแห้งจนทำให้ปลายไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้และพืชน้ำหลายชนิดก็ไม่เจริญเติบโตหรือแห้งตายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์และพืชในแม่น้ำโขงอย่างมาก ส่วนการที่นักวิเคราะห์บางรายระบุว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนนั้นตนเห็นว่าเป็นความจริงแค่เพียงบางส่วนและภาวะโลกร้อนก็คงไม่ใช่ปัจจัยหลักด้วยเพราะเมื่อสังเกตุไปยังแม่น้ำสาละวินในประเทศเมียนมา-ไทย ก็พบว่าไม่ได้แห้งแต่อย่างใด

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า การขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติของน้ำจึงเกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนมากกว่าโดยเฉพาะปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนเอาไว้มากถึง 11 แห่ง และกักเก็บน้ำเอาไว้ได้มากถึง 47 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นปริมาณมหาศาล ดังนั้นทางกลุ่มรักษ์เชียงของจะมีการรวบรวมข้อมูลและผลกระทบเพื่อนำเสนอต่อสถานเอกอัครราชทูตประเทศจีนประจำประเทศไทยเพื่อขอหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งกับทางการจีนและบริษัทที่สร้างเขื่อนต่างๆ ดังกล่าว เพื่อจะได้หาวิธีการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันเพราะหากเปลี่ยนวิธีการกักเก็บน้ำจะสามารถทำให้เกิดสมดุลในธรรมชาติได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันกรณีแม่น้ำโขงแห้งทางชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้นถือว่าได้รับผลกระทบ 2 ต่อคือจากปริมาณน้ำที่น้อยจากทางตอนเหนือของเขื่อนไชยะบุรี แขวงไชยะบุรี ใน สปป.ลาว และจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนไชยะบุรี โดยแม้ว่าจะมีผู้ทีเกี่ยวข้องระบุว่าเขื่อนนี้ยังไม่กักเก็บน้ำแต่เมื่อดูจากระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนที่ห่างกันมากกว่าตึก 11 ชั้นหรือสูงกว่า 32 เมตร ก็คาดการณ์ได้ว่ามีการกักเก็บน้ำเพื่อทดสอบระบบนั่นเองและเขื่อนแห่งนี้ห่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 200-300 กิโลเมตรใกล้เคียงกับเขื่อนจิ่งหงที่ห่างจาก จ.เชียงราย ทำให้คาดการณ์ว่าในอนาคตปัญหาก็จะคล้ายกัน