ชัดเจน! สคร.ชี้ “ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลง” ปัจจัยหลักทำเกิดโรคเนื้อเน่าหนังเน่า (25 ก.ค. 62)
MGR Online 25 กรกฎาคม 2562
ชัดเจน! สคร.ชี้ “ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลง” ปัจจัยหลักทำเกิดโรคเนื้อเน่าหนังเน่า
เชียงใหม่ - เผยปี 61 เคยพบคนน่านป่วยเป็นโรคเนื้อเน่าหนังเน่ากว่าครึ่งร้อย ปีนี้ป่วย 26 ตายแล้ว 1 สคร.ชี้ชัดยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลง เป็นต้นเหตุหลัก ระบุผู้ป่วยมีแผลพอสัมผัสสารเคมีแล้วเกาจนแผลลามติดเชื้อจนเนื้อ-หนังตาย
หลังจากมีการนำเสนอข่าวมีเกษตรกรชาวจังหวัดน่านป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าหนังเน่า หรือแบคทีเรียกินคน ถูกส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลน่าน ในช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงวานนี้ (24 ก.ค.) รวม 26 ราย และต้องส่งเข้าห้องไอซียู 3 ราย ในจำนวนนี้ได้เสียชีวิตลงแล้ว 1 ราย ขณะที่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพียง 2 รายนั้น
ล่าสุดนายแพทย์ สุเมธ องค์วรรณดี ผอ.สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ (สคร.1 เชียงใหม่) ระบุว่า โรคเนื้อเน่าหนังเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงของผิวหนัง มักเกิดอาการหลังการมีบาดแผล สามารถลุกลามได้เร็ว หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้าและผ่าตัดเนื้อตายออกไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากการมีบาดแผลเรื้อรัง รองลงมาเป็นการถูกของมีคมบาด/ทิ่มแทง โดยเฉพาะเกือบครึ่งเกิดบริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า ที่มีอาการบวมแดงมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีอาการปวดมีไข้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาฯ ความดันโลหิตต่ำกว่า 80/60 มม.ปรอท ผู้ป่วยเสียชีวิตร้อยละ 10
โดยเมื่อปี 61 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.น่าน รวม 65 ราย ส่วนปีนี้ (2562) พบผู้ป่วยประปรายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระทั่งเดือนมิถุนายนพบ 2 ราย เดือนกรกฎาคมพบแล้ว 26 ราย ซึ่งเป็นเดือนที่พบมากที่สุดทุกปี ผู้ป่วยส่วนมากมาจากทุกอำเภอของจังหวัดน่าน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ถูกส่งรักษาต่อ เนื่องจากแผลลุกลาม มีการติดเชื้อถึงเนื้อ
นายแพทย์ สุเมธระบุว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรงเนื้อเน่าหนังเน่า เกิดจาก 1. เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช เมื่อร่างกายสัมผัสสารเคมีด้วยวิธีการใดๆ จะคันแล้วเกาจนเป็นแผล และไม่ได้รับการรักษา เกิดการติดเชื้อจากการทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมอื่น ลุกลามถึงเนื้อ จนเกิดสภาพผิวหนังและเนื้อตาย
2. เมื่อเกิดแผลตามร่างกายจากการถูกกิ่งไม้-ใบหญ้าบาดหรือตำ รวมทั้งของมีคมต่างๆ แล้วไปสัมผัสกับสารเคมี ทำให้คัน-เกา จนแผลขยายขนาดและมีเชื้อเข้าสู่บาดแผล
ผอ.สคร.1 เชียงใหม่ แนะนำวิธีป้องกันรักษา ดังนี้
1. สวมรองเท้าบูต กางเกง เสื้อผ้าคลุมร่างกาย เพื่อป้องกันการถูกของมีคมบาด และป้องกันการสัมผัสสารเคมี
2. หลังจากเสร็จการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำนา ทำสวน ให้รีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด
3. สำรวจร่างกาย หากพบบาดแผลให้รีบล้างแผลโดยใช้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจรักษา
4. กลุ่มเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายคือ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ คนมีประวัติดื่มสุราประจำ เป็นโรคตับ โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการรับประทานยาสเตียรอยด์ ซึ่งต้องระมัดระวังหากเกิดบาดแผล
5. ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผล ก็อาจเกิดการติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว และมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง แนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลาม
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรคได้ที่ โทร. 1422 ฟรี ตลอด 24 ชม.