ดีเดย์ใช้ผังเมืองอีอีซี9ส.ค. เครือข่ายต้านขู่ฟ้องศาล (25 ก.ค. 62)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2562
ดีเดย์ใช้ผังเมืองอีอีซี9ส.ค. เครือข่ายต้านขู่ฟ้องศาล
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี
อีอีซีไม่หวั่น “เพื่อนตะวันออก” ค้านผังเมืองใหม่ เดินหน้าประกาศใช้ ส.ค.นี้ แจงพื้นที่เกษตร-นิคมอุตสาหกรรม ย่านฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ผ่านประชาพิจารณ์ 40 ครั้ง เผย ICD บ้านโพธิ์ แค่ศึกษาเบื้องต้นของ สนข. ยังต้องผ่าน EIA เคร่งครัด
กลุ่มครือข่ายเพื่อนตะวันออก ได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ลงนามระบุว่าเป็นประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมือง การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
“จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ยุติการประกาศใช้ผังเมืองอีอีซีในเดือนสิงหาคมนี้ และขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดทำผังเมืองใหม่ตั้งแต่ต้น” แถลงการณ์ระบุ
เลขาอีอีซีเดินหน้าตามไทม์ไลน์
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ภายใต้หลักวิชาการ การทำประชาพิจารณ์แล้วถึง 40 ครั้ง พื้นที่ใดที่มีปัญหาก็ได้มีการปรับแก้ไขให้แล้ว ส่วนพื้นที่ที่เป็นการนิคมอุตสาหกรรม 18 แห่ง ก็ได้มีการส่งให้สำนักผังเมืองพิจารณาอยู่แล้ว คาดว่าจะมีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ตามกำหนดการเดิม
แจงประชาพิจารณ์แล้ว 40 ครั้ง
นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ชี้แจงว่า มีการฟังความคิดเห็นโดยตรงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกอำเภอ ใน 5 กลุ่ม อาทิ 1.กลุ่มผู้แทนของประชาชน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2.หน่ายงานราชการ 3.ภาคเอกชน 4.ประชาชน 5.กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ในเวทีที่เป็นทางการกว่า 25 ครั้ง และเวทีที่ไม่เป็นทางการไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
ตอบประเด็นพื้นที่เกษตร
สำหรับประเด็นที่กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก มีข้อเรียกร้องให้บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะชิงเทรา ที่ถูกกำหนดพื้นที่บางส่วนรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่อนุรักษ์นิเวศโดยรอบที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงและคลองอ้อม และกำหนดพื้นที่ถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมนั้น ได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และกำหนดพื้นที่บริเวณถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว และรองรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยกระดับอมตะซิตี้เป็นนิคมอุตฯ
ส่วนที่มีการขอให้บริเวณรอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี โครงการ 2 เป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมนั้น การออกกฎหมายไม่สามารถมีผลย้อนหลังได้ และนิคมแห่งนี้ได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามขั้นตอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 พื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน มีหนังสือยินยอมจากประชาชนและผู้นำท้องถิ่นให้สามารถจัดตั้งนิคม อีอีซีจึงได้ประกาศยกระดับเป็นเขตส่งเสริม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนตามนโยบาย EEC พื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่
ICD บ้านโพธิ์ 700 ไร่ปรับได้
สำหรับโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ หรือ inland container depot : ICD ที่ศึกษาโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นทางวิชาการของ สนข.เท่านั้น โดยการศึกษาความเหมาะสมโครงการกำหนดให้พื้นที่บริเวณตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้ง ICD หากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (EIA) และปฏิบัติตามกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด
หวั่นสะเทือน 18 นิคมเอกชน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากผังเมืองอีอีซีไม่สามารถประกาศในเดือน ส.ค.นี้ จะส่งผลให้ 18 พื้นที่ที่เอกชนได้ยื่นขอจัดตั้งทำนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ และขอเป็นเขตส่งเสริมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์อีอีซีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จะกระทบต่อภาพรวมการลงทุนทั้งครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน
“ที่เอกชนยื่นมามีที่ขอขยายเฟสอย่างนิคมอุตสาหกรรมหลักชัย และส่วนที่เหลือเป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ อย่างของอมตะ ดับบลิวเอชเอ (WHA) ปิ่นทอง และโรจนะก็เช่นกัน ดังนั้น หากผังเมืองไม่ประกาศ นิคมเหล่านี้ขึ้นไม่ได้ นักลงทุนก็จะไม่มีพื้นที่ลงทุน เพราะหากลงทุนในที่ที่ไม่ได้ประกาศเป็นเขตส่งเสริม เขาก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ ก็จะทำให้เขาตัดสินใจยากขึ้น”
ทั้งนี้ 18 นิคมอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีพื้นที่รวม 35,788 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา 8 โครงการ จ.ชลบุรี 6 โครงการ และ จ.ระยอง 4 โครงการ ซึ่งขณะนี้บางนิคมจำเป็นต้องอาศัยผังเมืองใหม่นี้ในการพัฒนานิคมใหม่รับรองนักลงทุน เช่น นิคมโรจนะ หากเกิดความล่าช้าจะก่อให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ
ขณะนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซีเหลือประมาณ 17,000 ไร่ คาดว่าจะรองรับการลงทุนได้อีกประมาณ 3 ปี
นายชัยพล พรพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัท สวนอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมใหม่มี 2 แห่งที่รอประกาศผังเมือง คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 ที่กำลังอยู่ระหว่างทำ EIA ใน ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี
“หากยังไม่ประกาศจะทำให้เราเสียเปรียบ เพราะลูกค้าที่ได้เคยติดต่อไว้ เขาก็รอที่จะลงทุนในนิคมใหม่ของเรา ถ้าผังเมืองไม่ออก เราก็ขึ้นนิคมใหม่ไม่ได้ เขาก็จะไปหาพื้นที่ใหม่ที่รองรับเขาได้ ซึ่งก็อาจเป็นคู่แข่งเรา”
ขณะที่นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ผู้พัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชในอีอีซีกล่าวว่า ในผังเมืองใหม่จะเสนอเข้าครม.และมั่นใจว่าจะต้องประกาศใช้ ส.ค.นี้แน่นอน ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อการลงทุน และโครงการใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง
ยานยนต์ชี้กระทบตัดสินใจลงทุน
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หาก 18 นิคมใหม่ไม่สามารถขึ้นได้ จะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน
“สุริยะ” จ่อถกรองนายกฯสมคิด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขอดูผังเมืองก่อนว่าจะต้องปรับอีกหรือไม่ก่อนที่จะประกาศใช้ โดยจะหารือแผนการทำงานกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง
เตรียมฟ้องศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก เดินทางไปที่สำนักงานอีอีซีเพื่อคัดค้านการประกาศผังเมืองรวมที่จะออกมาในวันที่ 9 ส.ค.นี้ โดยจะรอผลการประชุมบอร์ดอีอีซี ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน หากเห็นชอบ จะยื่นฟ้องศาลปกครองทันที