จี้ ก.อุตฯ หยุดเกียร์ว่างสอบคดีเหมืองทอง (25 ก.ค. 62)
Thai PBS 25 กรกฎาคม 2562
จี้ ก.อุตฯ หยุดเกียร์ว่างสอบคดีเหมืองทอง
กลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ-ภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม ขอสอบปมเหมืองทองลักลอบขุดถนนเอาแร่ทองคำ และทวงถามผลตรวจสอบเก่า 4-5 ปี ที่ไม่ชัดเจน ด้านรองอธิบดี กพร. ไม่ขอตอบคำถามผลแก้ปัญหา ย้ำคดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการฯ
ว้นนี้ (25 ก.ค.62) กลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ ภาคประชาชน และตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี และลพบุรี นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ น.ส.อารมณ์ คำจริง เดินทางมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม ยื่นหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เอาผิดตามกฎหมายกับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. ตามที่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ทำการขุดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และทางสาธารณประโยชน์ เอาไปซึ่งสินแร่ทองคำและแร่เงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขุดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1301 และทางสาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ต้น ซึ่งปรากฏรายละเอียดตามหนังสือที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคมแนบมาให้ด้วย โดยขอให้เร่งติดตามเรียกค่าเสียหายที่มีมูลค่าความเสียหายต่อประเทศไทย ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เพื่อมาชดใช้คืนให้กับประเทศไทยด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นการได้ไปซึ่งสินแร่ทองคำและเงินโดยผิดกฎหมาย และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีรายงานของบริษัท คิงส์เกท ที่พบว่ามีปริมาณทองคำอาจจะหายไปอีกกว่า 100 ต้น เพื่อดำเนินการติดตามเรียกทรัพย์สินคืนมาให้กับประเทศไทยตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม หากไม่ดำเนินให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย
2.ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อยกเลิกเพิกถอนประทานบัตร ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตรจากการขุดถนนทางหลวงแผ่นดินและทางสาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดว่าด้วยการทำเหมือง เนื่องจากเป็นการทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการไม่ทำเหมืองตามวิธีการทำเหมืองแผนผังโครงการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตร ซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตร ตามมาตรา 138 จึงขอให้เร่งดำเนินการสั่งเพิกถอนประทานบัตรด่วนที่สุด
และ 3 ตามที่พบว่านายสุริยะ สมัยเป็น รมว.อุตสาหกรรม ปี 2549 เคยอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษวันเดียวมากถึง 51 แปลง เป็นพื้นที่มากกว่า 5 แสนไร่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น รวมทั้งตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้รับจดทะเบียนคำขอไว้ ทำให้กลายเป็นสิทธิของเอกชนตามกฎหมายพระราชบัญญัติแร่ อันส่งผลทำให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส หรือบริษัท คิงเส์กท ได้สิทธิ์เหนือที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนเป็นจำนวนมากและยังคงติดมาจนถึงขณะนี้ และพบว่ามีการระบุเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศไปนานแล้วทั้งที่เป็นที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนเป็นจำนวนมาก
ทำให้ประชาชนได้เข้าแจ้งความไว้แล้วว่าประชาชนไม่เคยได้อนุญาตให้กับบุคคลใดนำสิทธิ์ในที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชนซึ่งมีสิทธิ์อันหนึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไปทำเหมืองแร่ทองคำหรือเหมืองแร่อื่นใดทั้งสิ้น และไม่เคยอนุญาตให้กับบริษัทเอกชนใดนำสิทธิ์ของแผ่นดินของประเทศไทยไปเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งสิ้น จึงขอให้ รมว.คมนาคม แจ้งผู้ประกอบการบริษัทอัครารีซอร์สเซส หรือคิงเกตได้ทราบว่ามีการคัดค้านจากประชาชนกรณียื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ อาชญาบัตรพิเศษทับซ้อนลงไปบนที่ดินอยู่อาศัยทำกินของประชาชน ซึ่งมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มารับหนังสือ คือ นายสุระ เพชรพิรุณ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ได้รับเรื่องเรียนและจะส่งต่อให้กับผู้บริหารพิจารณา และเมื่อสอบถามถึงประเด็นข้อร้องเรียน ที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคม ร้องเรียนมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีมานี้ว่า กพร. หรือ กระทรวง ในฐานะผู้กำกับดูแลให้ใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำโดยตรง ได้ชี้แจ้งความคืบหน้าหลังมีเรื่องร้องเรียนบ้างหรือไม่
นายสุระ ระบุว่า ขอไม่ตอบประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีระหว่างบริษัทคิงสเกตกับรัฐบาลไทย และทุกอย่างมีการตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านก็มีมาตลอด ก็ดำเนินการตามเอกสารหลักฐานกันไป หลายเรื่องได้แจ้งกลับไปและมีเรื่องที่ชาวบ้านมายื่นก็เป็นเรื่องเดิมๆ ก็ทำไปในฐานะหน่วยงานราชการ
เมื่อถามว่า มองอย่างไรถ้าบอกว่าเป็นเรื่องเดิมๆ แล้วทำไมกลุ่มชาวบ้าน จึงยังเดินทางเข้ามายื่นหนังสืออีก นายสุระ กล่าวว่า ไม่ขอตอบประเด็นนี้ พร้อมระบุว่า ไม่ขอลงรายละเอียดเรื่องเหมืองแร่ เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือเสร็จ กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคม เดินทางออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ในช่วง 14.00 น. วันนี้