หมดหวังรอดจากสารเคมีพิษ (22 เม.ย. 62)

มติชนออนไลน์ 22 เมษายน 2562
หมดหวังรอดจากสารเคมีพิษ


ที่มา หน้า 7 ทอล์คออฟเดอะทาวน์ มติชนรายวัน 22เมษายน2562
ผู้เขียน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

(บทความโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา)

 
เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำบทความของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เพื่อคนไทยจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น
 
วันที่ 18 เมษายน 2562 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
 
โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน
 
สำหรับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอตและไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งได้กำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืชตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร
 
มาตรการส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรม เช่น ฝึกอบรม เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย
 
มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 240 คน ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกรอีกต่อหนึ่ง
 
ซึ่งวิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะต้องไปอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 1.5 ล้านคน ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2562
 
สำหรับผู้รับจ้างพ่น จำนวน 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562
 
คำแถลงของปลัดกระทรวงเกษตรฯ เห็นได้ชัดว่ากระทรวงเกษตรฯไม่ได้มีเป้าหมายในการยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงแต่ประการใด ไม่ได้เป็นไปตามคำกล่าวของนายกฤษฎา บุญราช ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องการให้มีการยกเลิกภายในระยะเวลา 2 ปี
 
มาตรการที่เสนอไม่ได้จำกัดผู้ค้าสารพิษเลย เช่น ไม่มีมาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสารพิษร้ายแรง ไม่มีมาตรการจำกัดสูตรหรือรูปแบบการนำเข้าสารพิษร้ายแรง ตัวอย่างเช่น ก่อนรัฐบาลจีนประกาศแบนพาราควอตในปี 2020 นั้น ได้ประกาศยุติการใช้พาราควอตในรูปแบบของเหลวทั้งหมด (ซึ่งคิดเป็นปริมาณการใช้พาราควอตทั้งหมดกว่า 80%) เป็นต้น
 
มิหนำซ้ำมาตรการที่เสนอนี้ยังอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท สามารถใช้สารพิษร้ายแรงที่มีความเสี่ยงสูงได้ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ และอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐเอง
 
ในขณะที่ 50 กว่าประเทศทั่วโลก และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ล้วนแล้วแต่ประกาศแบนพาราควอต และบางประเทศได้สั่งห้ามนำเข้าไกลโฟเซตแล้ว แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน กลับอุ้มบริษัทสารพิษ โดยไม่รับผิดชอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเลย
 
น่าผิดหวังจริงๆ!