เตรียมตัวรับมือฝุ่น PM 2.5 ฤดูกาลหน้า ต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดตั้งแต่วันนี้ (28 เม.ย. 62)
ไทยโพสต์ 28 เมษายน 2562
เตรียมตัวรับมือฝุ่น PM 2.5 ฤดูกาลหน้า ต้องแก้ที่แหล่งกำเนิดตั้งแต่วันนี้
แม้วิกฤติปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือจะดีขึ้น แต่บางพื้นที่ยังมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ว่าเวลานี้จะปลอดภัยจากฝุ่นแล้ว แต่ก็ใช่ว่าปัญหาฝุ่นจิ๋วอันตรายจะหมดไปจากประเทศไทยไม่กลับมาอีก
ในการเสวนา “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 อยู่กับฝุ่นอย่างไร…ให้ชีวิตรอดปลอดภัย” ที่จัดขึ้นโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วสท.มีความเห็นว่า ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญปัญหาวิกฤติ PM 2.5 อีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. สาเหตุหลักๆ มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในแทบจะทุกพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดหลายด้าน
สนธิ คชวัฒน์ จากชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีมานานหลายปี แต่เพิ่งจะเกิดการตื่นตัวตรวจคุณภาพอากาศกันจริงจังในปีนี้ จาก 50 สถานีทั่วประเทศ ซึ่ง 24 สถานีอยู่ใน กทม. ได้พบค่าฝุ่น PM 2.5 สูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ในภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด มีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าใน กทม.ค่อนข้างมาก ซึ่งแหล่งกำเนิดของฝุ่นมาจากหลายปัจจัย ใน กทม.หลักๆ มาจากการก่อสร้าง ทั้งก่อสร้างตึกอาคารสูง การสร้างอุโมงค์ 8 แห่ง และก็สร้างทางรถไฟฟ้าอีกประมาณ 4-5 สาย และมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งสะสมมานาน ยิ่งมีการก่อสร้างมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้การจราจรติดขัด แล้วการที่จราจรติดขัดก็ทำให้เกิดการเผาไหม้เครื่องยนต์นานขึ้นไปอีก
ตอนที่เป็นปัญหาหนักๆ ใน กทม.ช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เกิดความกดอากาศจากประเทศจีนลงมาสู่ไทย ก็เลยทำให้สภาพอากาศบ้านเราปิด ดังนั้น ฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวจึงเกิดการสะสมมากขึ้นและนิ่ง ไม่ลอยไปไหนจนมองเห็นชัด เป็นระยะเวลาหลายวันก่อนที่จะหายไป แต่ก็ไปปรากฏที่ภาคเหนือด้วยเหตุผลคล้ายกัน แต่ภาคเหนือมีปัจจัยเรื่องของการเผาพื้นที่ของเกษตรกร เนื่องจากช่วงวิกฤติเป็นช่วงที่เกษตรกรต้องเผาพื้นที่เตรียมปลูกพืชในฤดูถัดไป ด้วยวิธีการเผาตอซังฟาง ข้าวโพด เพื่อเอาเห็ดเผาะ หญ้าหวาน นอกจากนี้ก็มีสาเหตุมาจากการลักลอบเผาป่า และการรับควันพิษจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะที่รัฐชาน เมียนมา ก็มีไร่ข้าวโพดประมาณล้านไร่ มีการเผาเช่นเตรียมพื้นที่เช่นเดียวกัน
ด้าน ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษในภาคเหนือ จากการเผาตอซังเกษตรและพื้นที่โล่ง เนื่องจากในฤดูร้อนจะเกิดการทับถมของใบไม้และกิ่งไม้จำนวนมาก จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีและยากต่อการควบคุม เปรียบเทียบพื้นที่ไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงระหว่าง 1 ต.ค.–27 มี.ค. ในพื้นที่ภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 49,565 ไร่ และ 2561 จำนวน 28,118 ไร่ จนรัฐบาลมีคำสั่งคลี่คลายปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดฝุ่นควันและจุดความร้อน Hot Spot สถิติประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดกว่า 7 ล้านไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร หากเราไปบอกให้เขาหยุด เขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะนี่คือวิถีดั้งเดิมของเขา ทำมานานแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาฝุ่นแล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้ต้องทบทวนถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ว่าเป็นผลดีหรือไม่ เพราะการเผาเพื่อเตรียมดินเป็นวิธีที่ทำให้สร้างมลพิษแล้วยังทำให้ดินเสียหายอีก ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ มาใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ยแทนการเผาทำลาย หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำเปลือกข้าวโพดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น หรือในการฟื้นฟูคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมระยะยาว ยกตัวอย่างประเทศจีนในระยะเวลา 5 ปี เขาเร่งโครงการปลูกป่าครอบคลุมพื้นที่รวม 70,000 ตร.กม. ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน
ศ.ดร.ธเรศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากจะพูดถึงในส่วนของปัญหาก่อสร้างด้วย ว่าปูนคือตัวหลักของฝุ่นมากเหมือนกัน จะเห็นว่าทุกพื้นที่ก่อสร้าง เมื่อน้ำปูนแห้งจะมีเศษปูนเต็มพื้นที่ คนงานจำเป็นต้องกวาดออก ยิ่งถ้าหากตัวอาคารก่อสร้างนั้นสูง ยิ่งเป็นหอกระจายฝุ่น ที่สำคัญคือฝุ่นสามารถเดินทางได้ในระยะไกล ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ใกล้ๆ แล้วการนำตาข่ายสีเขียวมาคลุมปิดสิ่งก่อสร้าง เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะรูตาข่ายค่อนข้างใหญ่ ในต่างประเทศบริเวณก่อสร้างเขาใช้สิ่งปิดคลุมมิดชิดมากกว่า จนไม่สามารถมองเห็นได้
" PM 2.5 จะเกิดอีก หากสภาพอากาศถูกกด เพราะมันมีช่วงวนของมัน บวกกับการสะสมฝุ่นจากแหล่งต้นเหตุต่างๆ จึงเป็นประเด็นที่ต้องมาขบคิดทางออกต่อไป" ศ.ดร.ธเรศ กล่าว
ในส่วนของการเผาไหม้เครื่องยนต์ รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วสท. กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น แต่สวนทางกับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์สะสมประมาณ 20 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 10.3 ล้านคันจดทะเบียนในกรุงเทพฯ และเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล 2.6 ล้านคัน ซึ่งใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 1, 2, 3, 4 อันเป็นตัวการสำคัญเกิดควันพิษ ฉะนั้น จึงต้องเร่งผลักดันให้มีการใช้มาตรฐานยูโร 5, 6 ต่อไปให้เร็วที่สุด เพราะหากใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นเป็นยูโร 5 ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันจากท่อไอเสียได้ประมาณ 80-90% ทางกระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งรัดความร่วมมือกับ 12 ค่ายรถยนต์ให้เป็นจริงโดยเร็ว เช่น ยกระดับการผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ภายในปี 2564 และวางแผนเตรียมยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565
ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เรียกร้องการผลิตน้ำมันระดับยูโร 5 ด้วย เพราะทั้งรถเก่าและรถที่ขายในปัจจุบัน หากใช้น้ำมันระดับยูโร 5 ก็จะสามารถลดมลพิษได้ทันที รวมถึงการยกระดับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถยนต์ดีเซล จะทำให้การจุดระเบิดของเครื่องยนต์ง่ายขึ้น การเผาไหม้ดีขึ้น เครื่องสตาร์ทติดง่าย และการหล่อลื่นที่ดีกว่า ซึ่งช่วยลดการปล่อยควันดำสาเหตุของฝุ่น อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และบริการน้ำมันยูโร 5 อย่างทั่วถึง และรัฐบาลต้องเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์เก่า เช่น รถ ขสมก.ที่มีอายุ 10-20 ปี หรือรถที่เก่ามากๆ ควันดำ ไม่ควรนำมาวิ่งบนเส้นหลัก โดยใช้มาตรการตรวจสอบการปล่อยไอเสียอย่างจริงจัง และเก็บภาษีรายปีเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนซื้อรถคันใหม่แทนการเสียค่าบำรุงรักษาที่สูงเกินไป
เช่นเดียวกับนายสนธิ คชวัฒน์ เสนอว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรกำหนดนโยบายด้านมลพิษอากาศ และจะต้องมีมาตรการรองรับอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ 1.มาตรการด้านรถยนต์ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันและเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 และ 6 ควรทำภายใน 4 ปี แล้วก็ผลักดันให้รถขนส่งสาธารณะและรถยนต์พ่วงบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ NGV หรือเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ยูโร 5 ในเขต กทม. เมื่อรถไฟฟ้าครบ Loop ต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เช่น ต้องมีที่จอดรถเท่านั้นถึงจะจดทะเบียนได้ รวมถึงส่งเสริมและจูงใจการลงทุนการผลิตรถเครื่องยนต์ไฟฟ้าจากภาคเอกชน และห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลอายุเกิน 10 ปีวิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมลฑล กำหนดให้รถเครื่องยนต์ดีเซลติดตั้ง Diesel Particulate Filter หรือ DPF เป็นอุปกรณ์กรองเขม่าไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ให้ปล่อยออกไปสู่อากาศได้ ต่างประเทศนิยมติดตั้งไปแล้ว แล้วก็ควบคุมการจราจรไม่ให้ใช้รถยนต์ เช่น ลดราคาค่ารถไฟฟ้าและรถโดยสาร ห้ามจอดรถริมถนน จำกัดที่จอดรถในเมือง กำหนดเลนจักรยาน จำกัดปริมาณมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล ปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐ และเข้มงวดการจอดรถยนต์ริมถนน 2.มาตรการด้านโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นที่ปลายปล่องใหม่ โดยกำหนดเป็นค่า Loading ซึ่งก็คือความเข้มข้นกับอัตราการปล่อย เพิ่มประเภทโรงงานเพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติที่ปลายปล่อง รวมถึงเก็บภาษีการปล่อยมลพิษทางอากาศ
3.มาตรการลดการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาขยะ ชีวมวล วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ชัดเจน และกำหนดมาตรการจูงใจเพิ่มเติม รัฐควรสร้างเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันโดยมีหน่วยราชการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งยังต้องส่งเสริมวิธีการที่เป็นมิตรกับ สวล.แก่เกษตรกร เช่น การไถกลบวัสดุทางการเกษตร การทำปุ๋ยหมัก การทำก๊าซชีวมวล เป็นต้น
“ในเรื่องการเผา ต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงประชาชนรากหญ้าที่ทำการเผาทุกพื้นที่ โดยต้องทราบถึงปัญหาของเขาอย่างแท้จริง และถ้าไม่เผาจะร่วมมือกับรัฐอย่างไร รัฐจะช่วยเหลืออะไร ซึ่งต้องอาศัยกลไกของอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ในระดับกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ขับเคลื่อนดูแลพื้นที่ตนเอง รวมทั้งใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดด้วย โดยมีตัวชี้วัดคือจำนวน hotspot ต้องลดลง และต้องหารือ และจัดการกับทุนใหญ่ไม่ให้รับซื้อข้าวโพดและพืชไร่ที่มาจากพื้นที่ที่ทำการเผาทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งตรวจสอบ หากพบว่าผู้ประกอบการคนไหนสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังการเผาต้องแอนตี้สินค้าและดำเนินคดี แล้วถ้าทำตรงนี้กับประชาชนได้ ไทยก็ต้องอาศัยกลไกในการเป็นประธานอาเซียนนำเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาของอาเซียน ตลอดจนรัฐบาลไทยต้องจัดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้ ” นายสนธิแนะ
ส่วนต่อมา 4.มาตรการด้านผังเมืองและพื้นที่สีเขียว อยากให้มีการควบคุมการขยายตัวของอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้าและถนนที่ตัดขึ้นใหม่ให้มีระยะห่างช่องทางของลมพัดผ่าน มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มต้นไม้ในเมืองทั้ง แนวเส้นทางจราจรและสวนสาธารณะให้ได้อย่างน้อย 9.0 ตารางเมตรต่อคน เป้าหมายคือ 15.0 ตารางเมตรต่อคน ส่วนริมเส้นทางจราจรที่เปิดใหม่ให้นำสายไฟและสายอื่นๆ ลงใต้ดิน และปลูกต้นไม้แทน 5.มาตรการด้านบริหารจัดการ ได้แก่ การจัดทำกลยุทธ์ วิธีการต่างๆ ในการรองรับเพื่อตอบโต้กรณีฉุกเฉินทางมลพิษทางอากาศให้ชัดเจน มีศูนย์บัญชาการตอบโต้โดยให้ผู้ว่าฯ จังหวัดเป็นผู้นำ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน แล้วก็ให้ภาคประชาชนและนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน ทำงานอย่างโปร่งใส ใส่ใจต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลักและต้องบอกความจริงเป็นระยะ มีเป้าหมายทุกมาตรการนำไปสู่การลดค่ามาตรฐานฝุ่น 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในระยะเวลา 3 ปี
สุดท้าย วงเสวนายังฝากถึงประชาชนอีกด้วยว่า หากประสบปัญหาฝุ่น ให้ตรวจสอบสภาพอากาศในบ้าน และดูแลความสะอาด และเมื่อออกนอกบ้านก็ควรลดการขับขี่ยานพาหนะส่วนตัวเพื่อไม่เพิ่มปัญหาฝุ่นและควันพิษอีก