ทส.หาวิธีรณรงค์กลุ่ม ‘ผู้หญิง’ ช่วยลดพลาสติก พบสัดส่วนใช้สูงกว่าชาย-กุมบทบาทการจับจ่าย (29 เม.ย. 62)
Green News TV 29 เมษายน 2562
ทส.หาวิธีรณรงค์กลุ่ม ‘ผู้หญิง’ ช่วยลดพลาสติก พบสัดส่วนใช้สูงกว่าชาย-กุมบทบาทการจับจ่าย
รมว.ทส.เผยผลสำรวจการใช้พลาสติก พบสัดส่วนเพศหญิงใช้สูงกว่าเพศชาย เหตุรับหน้าที่แม่บ้าน-กุมการจับจ่าย มุ่งหารือสร้างวิธีรณรงค์
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่า ในการประชุมได้มีการหารือถึงการดำเนินตามเป้าหมายลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ การช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้พลาสติกน้อยลง จากผลสำรวจการใช้พลาสติกระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ที่พบว่าผู้หญิงมีการใช้พลาสติกมากกว่า เนื่องจากการทำหน้าที่แม่บ้านที่ต้องซื้อของ ดังนั้นผู้หญิงจึงมีส่วนสำคัญในการลดถุงพลาสติกมากกว่า
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งหัวข้อที่ได้ประชุมหารือกันนั้น คือการให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรณรงค์เรื่องของการใช้นวัตกรรมเข้ามา เป็นตัวช่วยให้มีการลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วขึ้น เช่น การมีวัสดุเข้ามาทดแทนถุงหูหิ้ว หรือโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีเข้ามามากขึ้นและราคาเริ่มถูกลง จึงจำเป็นต้องมีการกำชับให้ลดราคามากขึ้น เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้วัสดุทดแทนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในการประชุมยังได้มีการประเมินตัวชี้วัดการลดการใช้ถุงพลาสติกของข้าราชการประจำปี เพื่อส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลตัวเลขจากทุกจังหวัดในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วได้ประมาณ 933 ล้านใบ คิดเป็นกว่า 2,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่าร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อจำนวนมาก รวมถึงโรงพยาบาลทุกแห่งได้มีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในการซื้อของและจ่ายยา
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของโฟมพบว่าสามารถลดลงไปได้กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าในอนาคตผู้ผลิตโฟมจะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย โดยมีเรื่องของการใช้วัสดุทดแทน เช่น ชานอ้อย เข้ามาแทน และนับว่าเป็นสิ่งที่ดี พร้อมกันนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกประเทศไทย ปี 2561-2573 โดยในปี 2562 จะยกเลิกการใช้พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ ไมโครบีดส์ และพลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่มที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เลิกใช้แล้ว และที่สำคัญในปี 2565 จะมีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
“ความสำเร็จในการลดพลาสติกได้ในวันนี้ เกิดจากทุกคนได้ร่วมมือกัน ทุกภาคส่วน ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการรณรงค์ เพราะอย่าลืมว่าถุงพลาสติกคือสิ่งที่สะดวกสบายต่อทุกคน จึงจำเป็นต้องมีโรดแมปที่เสนอต่อรัฐบาล ว่าในแต่ละปีจะเลิกพลาสติกใดก่อน” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว