เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม จี้ชะลอร่าง พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ ชี้ซ้ำเติมปัญหามลพิษ รวม pm 2.5 (18 ก.พ. 62)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 18 กุมภาพันธ์ 2562
เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม จี้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ (18 ก.พ. 62)
เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประยุทธ์ จี้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ ชี้อาจจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง PM 2.5 แพร่กระจายโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม
18 กุมภาพันธ์ 2562 เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (คสสส.) ไดัมีจดหมายเปิดผนึกซึ่งลงนามโดยเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานฉบับใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามหนังสือที่ นร 0503/42441 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ความทราบแล้วนั้น โดยระบุเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แหล่งกำเนิดของมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 กระจายออกไปโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง คสสส.จึงขอเสนอให้รัฐบาลให้ชะลอการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ไว้ก่อน
ทั้งนี้ ในจดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว คสสส. ได้ระบุรายละเอียดของเหตุผลไว้ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
"... 1. การแก้ไขนิยาม “โรงงาน” และ“ตั้งโรงงาน” ทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็น “โรงงาน” นิยามใหม่ดังกล่าวจะส่งผลต่อโรงงานจำนวนมากจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายโรงงานอีกต่อไป โดยที่โรงงานดังกล่าวอาจจะเป็นโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในชุมชน รวมถึงการก่อสร้างอาคารโรงงานสามารถเริ่มทำได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมและการตรวจสอบความปลอดภัยที่ยากลำบากมากขึ้น นอกจากนี้การแก้ไขนิยาม “โรงงาน” และ “ตั้งโรงงาน” นี้จะส่งถึงความหละหลวมในการกำหนดทำเลที่ตั้งของโรงงานโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีกิจการหลายประเภทที่อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นหรือใกล้พื้นที่ที่โรงงานจะเข้ามาตั้งขึ้นในภายหลัง
แม้ว่า การแก้ไขกฎหมายต้องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น แต่การอำนวยความสะดวกที่เปิดกว้างไปทั้งหมดอาจจะส่งผลเสียหายรุนแรงต่อประเทศและประชาชนในภายหลังได้ เนื่องจากมีกิจการจำนวนมากที่แม้จะใช้เครื่องจักรขนาดเล็กหรือใช้คนงานจำนวนไม่มาก แต่เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของประชาชนและอาจก่อให้เกิดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรง ตัวอย่างเช่น กิจการคัดแยกของเสีย กิจการหล่อหลอม กิจการรีไซเคิลของเสีย การจัดเก็บสารเคมีอันตราย และอื่นๆ การแก้นิยามในกฎหมายครั้งนี้จะทำให้กิจการเหล่านี้ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายโรงงานโดยทันที และจะขัดต่อพระราชบัญญัติผังเมืองและการพิจารณาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ขณะที่กฎหมายอื่นที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้กำกับดูแลสถานประกอบกิจการโดยตรง จึงความจะมีการปรับปรุงเรื่องนิยาม “โรงงาน” และ “ตั้งโรงงาน” ใหม่ให้รอบคอบ
2. การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานในทุกกรณีตามมาตรา 14 และมาตรา 15 ทำให้ใบอนุญาตไม่มีวันหมดอายุและไม่มีการต่ออายุ มีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรม จนไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยการยกเลิกดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบและกลไกการตรวจสอบโรงงานในจังหวะหรือห้วงเวลาที่เหมาะสมและต่อเนื่องว่าได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตที่ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมากในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการต้องทำการปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ การยกเลิกดังกล่าว คือการลดทอนมาตรการตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมไทยในระยะยาว
3. ผู้ประกอบการต้องรับภาระในระยะยาวจากปัญหาการปนเปื้อนมลพิษและความขัดแย้งกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเพียงลำพัง ทั้งนี้มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2557 (2014) พบว่า ความขัดแย้งกับชุมชนทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการมักมองข้ามสูงถึงร้อยละ 35-50 เวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับความขัดแย้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งเสียกำลังและเสียโอกาสในการขยายธุรกิจ และปริมาณการผลิตที่ได้ก็อาจล่าช้าลง นอกจากนี้การลดทอนระบบการควบคุมกำกับดูแลทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะยิ่งทำให้สังคมไทยโดยรวม ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ค่าเสียหายจากผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน และโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ ซึ่งยิ่งปล่อยปละให้เกิดการปนเปื้อนต่อเนื่องไปมากเท่าใด ความยากในการฟื้นฟูและค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่มีต่อภาครัฐด้วย
4. การแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการประกันภัย หรือหลักประกัน หรือกองทุนเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อการฟื้นฟู หรือเพื่อการทำให้พื้นที่ตั้งโรงงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้า ในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และจากข้อมูลการรับฟังความเห็นที่ผ่านมามีทั้งหน่วยงานราชการ นักวิชาการ นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
5. บทลงโทษสำหรับการกระทำผิดตามร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน ทำให้ราชการไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายท้องที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อบัญญัติและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ การแก้ไขกฎหมายด้วยการเพิ่มข้อบัญญัติที่เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการในการลงทุน จึงควรควบคู่ไปกับการปรับปรุงบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาที่จะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคนให้ความเคารพยำเกรงต่อกฎหมายของประเทศมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงควรเปลี่ยนเป็นการใช้โทษปรับทางปกครองสำหรับผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติที่สำคัญด้วย..."