ผนึกทุกภาคส่วน ชวนชาวบ้านสานพลังสร้างโมเดลแก้วิกฤต 'ขยะล้นชุมชน' (6 ต.ค. 61)
ประชาไท 6 ตุลาคม 2561
ผนึกทุกภาคส่วน ชวนชาวบ้านสานพลังสร้างโมเดลแก้วิกฤต 'ขยะล้นชุมชน'
6 ต.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และไทยพีบีเอส ร่วมกันจัด เวทีสานใจสานพลังภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง ครั้งที่ 4 (สานใจฟอรั่ม) ว่าด้วย “การจัดการขยะโดยชุมชน” ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีภาคีเครือข่ายจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง” ว่าความสำเร็จในการแก้ปัญหาขยะของประเทศไทย อาศัยทิศทางสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.มีความมุ่งมั่นร่วมกัน (Purpose) สร้างสังคมที่สมดุลและมีสันติสุข 2.พัฒนาฐานราก (Physical) ทั้ง 8 พันตำบล 8 หมื่นหมู่บ้าน และ 3.สานความร่วมมือ (Participation) โดยเน้นสื่อสารเชิงบวก ทำให้ผู้คนเกิดปัญญาและปฏิบัติตาม ดีกว่ามาตรการบังคับด้วยกฎหมายหรือใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง
“ถ้าทุกคนในประเทศนี้ร่วมมือสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อสารมวลชน ภาคประชาสังคม ตำบลปลอดขยะหรือขยะเป็นศูนย์เกิดขึ้นได้แน่นอน”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในหัวข้อ “ภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง” กล่าวว่า ปัจจุบันมีการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... ถือเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้เกิดโครงสร้างการทำงานพัฒนาชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ โดยมี สช. สภาพัฒน์ฯ และ พอช. เป็น 3 องค์กรหลักเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งแก้ปัญหาแบบบูรณาการ
“ขณะนี้มีความร่วมมือขององค์กรระดับชาติส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เช่น ไทยพีบีเอส สช. พอช. มหาดไทย สสส. สปสช. สธ. ฯลฯ แต่ภาครัฐคงดำเนินการลำพังไม่ได้ ชุมชนต้องร่วมจัดการปัญหาด้วยตัวเองและสร้างโมเดลขึ้นมา”
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวถึง “ทิศทางสื่อสาธารณะกับการสนับสนุนการปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง” ว่า รายการของไทยพีบีเอสปี 2561 สอดแทรกประเด็นการจัดการขยะโดยชุมชนมาตลอด ทั้งรายการแบบออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวด์ ลงไปปฏิบัติการร่วมกับพื้นที่ ออกแบบกิจกรรมให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการปัญหาขยะด้วยตัวเอง เช่น โครงการสมุยสะอาด รายการขยะวิทยา101 รายการ Thailand Live ฟังเสียงประเทศไทย และรายการสะเทือนไทย เป็นต้น ล่าสุดไทยพีบีเอสทำแอพลิเคชั่นใหม่ C-side ให้นักข่าวพลเมืองส่งคลิปวิดีโอเข้ามานำเสนออีกด้วย ทั้งหมดช่วยให้เกิดโมเดลในการแก้ปัญหาขยะทั้งในท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมได้อย่างดี
เวทีมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนำโมเดลระดับพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ การจัดการขยะชุมชน เมืองท่องเที่ยว โดย นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้แทนชุมชนเกาะสมุย กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการขยะชุมชนบางมะขามว่า เป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส เทศบาลนครเกาะสมุย และชาวชุมชนเพื่อแก้ปัญหาขยะเปียก อาทิ เศษอาหารต่างๆ จากโรงแรม บ้านเรือน โดยใช้ถังหมัก หนอนแม่โจ้ และน้ำหมักชีวภาพ เกิดปุ๋ยจำหน่ายที่มีคุณภาพและกำจัดขยะเปียกได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน
น.ส.พรทิพย์ จันทร์ผ่อง รองปลัดเทศบาลนครเกาะสมุย กล่าวเสริมว่า โครงการบางมะขามโมเดลมีโรงแรม 126 แห่งเข้าร่วมและจะขยายไปสู่โรงเรียนต่างๆ 26 แห่งตั้งธนาคารขยะและขยายสู่ชุมชนอีก 39 แห่ง พร้อมทั้งมีการทำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูกับร้านค้า ร้านอาหาร และสถานประกอบการอื่นๆ ร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะเปียก ถือว่าคนสมุยตื่นตัวลุกขึ้นมาดูแลปัญหาตัวเอง
นพ.สุธี ฮั่นตระกูล รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน จังหวัดพิษณุโลกใช้นโยบาย Zero Landfill คือทำให้เหลือขยะน้อยที่สุดก่อนฝังกลบหรือไปสู่เตาเผาขยะ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดระดับชุมชน ครัวเรือน และนำไปรีไซเคิล เราพบว่าปริมาณขยะทั้งหมดถูกแยกขาย 40% ทำปุ๋ยหมัก 40% เหลือกำจัดเพียง 20% โดยปัจจุบันได้ทำการแยกขยะและนำกลับมาทำเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ เกิดสหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการชุมชนอีกด้วย
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน กล่าวว่า แนวคิดสำคัญในการแก้ปัญหาขยะคือ ต้องมีตลาดรองรับสินค้าเพื่อให้คนที่คัดแยกขยะมีรายได้ ทุกวันนี้ มีการนำขยะจากเกาะสมุย 30 ตันต่อวันเข้า กทม. อาทิ ขวด กระป๋อง ถุงพลาสติก สู่โรงงานแปรรูปเป็นเชือก แห อวน ส่งขายฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเส้นใยโพลีเอสเตอร์ทำเสื้อนักเรียน เสื้อนักกีฬาบอลโลก ฯลฯ ล่าสุดบริษัทกีฬายักษ์ใหญ่ เช่น ไนกี้ อาดิดาส อยากให้รวบรวมขยะพลาสติกในทะเล ผลิตเป็นรองเท้ากีฬาจากปกติคู่ละ 1,500 บาท ก็เป็น 4,000 บาท
ดร.สมไทย เรียกแนวทางรีไซเคิลขยะว่าเป็น “ซาเล้งวิทยา” โดยล่าสุดได้ก่อตั้งสถาบันรีไซเคิลแห่งแรกของอาเซียน ใช้ชื่อว่า Asian Institute of Recycling (AIR) ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกแล้ว
นายซัยฟุตดีน เหร็มอะ ที่ปรึกษาผู้ใหญ่บ้านเขานา ต.คลองทราย อ.นาทวี จ.สงขลา นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ กล่าวว่า ในพื้นที่มีชาวบ้าน 300 กว่าคน เป็นมุสลิม 90% ในช่วงปี 2550 มีปัญหาขยะมากและกำจัดไม่ถูกวิธี ทิ้งแบบขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ เราจึงใช้ต้นทุนด้านศาสนามานำทาง เช่น สร้างธนาคารขยะในมัสยิด หรือการสร้างศูนย์เลี้ยงไส้เดือนโดยการนำขยะอินทรีย์วัตถุมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ฯลฯ
ขณะที่ นพ.สุนทร โสภณอัมพรเสนีย์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.หนองพลวง ต.หนองพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจมากจากโครงการทำดีเพื่อพ่อ และ อบต. ไม่มีงบประมาณในการซื้อรถขนขยะ จึงเกิดเป็นความร่วมมือจากชุมชนและครัวเรือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการร่างธรรมนูญสุขภาพเป็นกฎ กติกาแก้ปัญหาขยะร่วมกัน