สปสช. หนุนมติ สธ. ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย (9 ก.ย. 61)
ประชาไท 9 กันยายน 2561
สปสช.หนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย
สปสช.เปิดข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ในช่วง 3 ปี สูงถึง 1,715 ราย ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 5 พันราย/ปี เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 22 ล้านบาท/ปี ระบุเป็นเพียงข้อมูลเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยรับสารเคมีทางตรง หวั่นผลกระทบสุขภาพประชาชนระยะยาวจากภาวะตกค้างปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เกิดภาระค่ารักษาประเมินไม่ได้ พร้อมหนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชน
9 ก.ย. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีมติห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้มีมติเห็นชอบด้วย เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรงและผู้ได้รับสารพิษทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาติ
จากข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้มีการรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต (organophosphate and carbamates insecticides) ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and fungicides) และสารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ โดยปี 2559 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวน 4,924 ราย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 613 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,829,167 บาท และปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 4,983 ราย เสียชีวิตจำนวน 582 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,651,053 บาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เมื่อแยกดูข้อมูลผู้ป่วยตามประเภทของสารพิษที่ได้รับ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต ปี 2559 มีจำนวน 1,394 ราย เสียชีวิตจำนวน 101 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 7,386,640 บาท และปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 1,299 ราย เสียชีวิตจำนวน 79 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 7,262,045 บาท, ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา ปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 2,063 ราย เสียชีวิตจำนวน 478 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 10,434,891 บาท และปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 2,234 ราย เสียชีวิตจำนวน 471 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 10,305,528 ราย และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 1,522 ราย เสียชีวิตจำนวน 34 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 5,007,636 บาท และปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 1,499 ราย เสียชีวิต 32 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 5,083,480 บาท
ส่วนการรายงานข้อมูลผู้ป่วยในปี 2561 นี้ (ข้อมูล 10 เดือน ต.ค. 2560 –ก.ค. 2561) มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วจำนวน 4,001 ราย เสียชีวิตจำนวน 520 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 17,335,470 ล้านบาท โดยเป็นผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตจำนวน 877 ราย เสียชีวิตจำนวน 56 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 4,362,437 บาท ผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อราจำนวน 1,886 ราย เสียชีวิตจำนวน 442 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 8,804,145 บาท และผู้ป่วยจากสารเคมีทางการเภษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,288 ราย เสียชีวิตจำนวน 22 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 4,168,888 บาท
นอกจากนี้เมื่อดูการเข้ารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยแยกข้อมูลตามเขตบริการสขภาพ 13 เขต พบว่า ปี 2561 เขต1 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด มีจำนวน 644 ราย รองลงมาคือ เขต 9 นครราชสีมา จำนวน 454 ราย เขต 5 ราชบุรี จำนวน 433 ราย เขต 2 พิษณุโลก จำนวน 426ราย และเขต 3 นครสวรรค์ จำนวน 422 ราย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้ เป็นเพียงข้อมูลเฉพาะในส่วนผู้ป่วยที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง เฉลี่ยพบผู้ป่วยประมาณ 5,000 รายต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 22 ล้านบาทต่อปี โดยรายงานนี้ยังมีข้อมูลที่น่าตระหนก เนื่องจากมีผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงปี 2559-2561 มีจำนวนสูงถึง 1,715 ราย หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 600 ราย นับเป็นข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์สะท้อนถึงผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายเหล่านี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของประชาชน จากการรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางอ้อมที่ตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขได้ในอนาคต
“ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีดังกล่าว สปสช.หนึ่งในองค์กรระบบสุขภาพขอแสดงจุดยืนในการร่วมปกป้องสุขภาพประชาชนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย และขอสนับสนุน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในการผลักดันนโยบายห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3ชนิด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว