"ดีเอสไอ" เตรียมแจ้งอีก 8 ข้อกล่าวหา "เหมืองทองพิจิตร" (28 ส.ค. 61)
Thai PBS 28 สิงหาคม 2561
"ดีเอสไอ" เตรียมแจ้งอีก 8 ข้อกล่าวหา เหมืองทองพิจิตร
ดีเอสไอ เตรียมแจ้งอีก 8 ข้อกล่าวหา เหมืองทองพิจิตร หลังจากลงพื้นที่สืบสอบร่วม 4 ปี ตามที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาชนร้องเรียน
วันนี้ (28 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำโดย นายพิเชฎฐ์ ทองศรีนุ่น หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน สำนักงานดีเอสไอ จะแจ้งข้อกล่าวหา จำนวน 8 ข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการใน จ.พิจิตร ให้รับทราบ
ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาวันนี้ สืบเนื่องจาการขยายผลตรวจสอบของดีเอสไอ ซึ่งลงพื้นที่เป็นระยะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดีเอสไอรับเรื่องเหมืองแร่ทองคำไว้เป็นคดีพิเศษ เมื่อปี 2558 สำหรับการตรวจสอบมี 9 ประเด็นหลักที่ดีเอสพิจารณาว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในช่วงที่ผ่านมา ผิดกฎหมายหรือไม่ ได้แก่ 1. การทำเหมืองในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ขอประทานบัตร เช่น ทางสาธารณะ 2. การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2
3. การประกอบโรงงานประกอบโลหะกรรม, 4. การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน, 5. การเปลี่ยนแปลงผังโครงการทำเหมืองแร่, 6. การเป็นนอมินีต่างชาติในการถือครองที่ดินและทำเหมืองแร่, 7. การหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้อง, 8. การฟอกเงินในการทำธุรกิจเหมืองทองคำ และ 9. การฉ้อโกงฉ้อฉลต่อสถาบันทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์
ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหา บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ในฐานะนิติบุคคลไปแล้ว 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ทับพื้นที่ป่า, 2. รุกล้ำเขตทางหลวงแผ่นดิน ผิด พระราชบัญญัติทางหลวง ปี 2535 และ กฎหมายอาญา มาตรา 360 และ 3. บุกรุก ครอบครองพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ผู้บริหารเหมืองแร่ทองคำยืนยันมาตลอดว่า ที่ผ่านมา การประกอบกิจการดำเนินการถูกต้อง เป็นไปตามหลักสากล
สำหรับผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบมี 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ นำโดย น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง และกลุ่มประชาสังคม ปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และ น.ส.อารมณ์ คำจริง
ส่วนสถานการณ์เหมืองแร่ตอนนี้ ยังหยุดประกอบกิจการ ตามคำสั่ง มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ที่ระงับนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อต้องการให้กระบวนการตรวจสอบเดินหน้า และแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ และ สิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน ตามที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมร้องเรียน ท่ามกลางกระแสข่าวที่มีมาตลอดในช่วง 2 ปีนี้ว่าเหมืองแร่ทองคำได้เจรจาขอกลับมาเปิดประกอบกิจการใหม่