จวก คกก.วัตถุอันตราย มีมติ 3สารเคมี "ตัดหน้า"เพื่อใคร ?เพราะยังเปิดช่องใช้กับพืชผักเศรษฐกิจที่คนบริโภค (1 ก.ย. 61)
ไทยโพสต์ 1 กันยายน 2561
จวก คกก.วัตถุอันตราย มีมติ 3สารเคมี "ตัดหน้า"เพื่อใคร ?เพราะยังเปิดช่องใช้กับพืชผักเศรษฐกิจที่คนบริโภค
1ก.ย.61-ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่ควรออกมติเร่งรัดกรณีแบนไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด ในช่วงที่ประชาชนยังคลางแคลงใจ ยันไม่กระทบการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ด้าน NGO ซัด กรรมการวัตถุอันตราย ใช้ลูกเล่นเพื่อให้มีการใช้สารเคมีต่อ ส่วนจำกัดการใช้ในไทยเป้นการถอยหลังแารแก้ปัญหา ประเทศอื่นเคยทำแล้วไม่ได้ผลจนนำมาสู่การแบน และเชื่อการจำกัดในไทยได้ผลยาก เพราะไม่มีมาตรการจริงจัง สุดท้ายก็ต้องใช้ทั่วไปอยู่ดี
จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกรโฟเซต ในพืชผักสวนครัว-สมุนไพร แต่ยังอนุญาตให้ใช้ได้ในพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสัมปะหลัง และห้ามใช้ในพื้นที่ใกล้ต้นน้ำ เพราะอาจชะล้างลงแม่น้ำลำคลอง โดยมีเป้าหมายการยกเลิกภายใน 1-2 ปี ให้กรมวิชาการเกษตรไปกำหนดแนวทางการยกเลิกและจำกัดการใช้ภายใน 3 เดือน
ล่าสุด นายธีระ วงษ์เจริญที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจศึกษาผลเรื่องสารเคมี โดยการหาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน ภายใน 30 วัน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในสิทธิ์ทางกฏหมายคณะกรรมการวัตถุอันตายยังมีอำนาจในการออกมติเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้หรือไม่ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพียงแต่ในตอนนี้ที่สังคมยังมีความแคลงใจเกี่ยวกับมติให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อ จนมีการเรียกร้องต่างๆ จนท่านนายกฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน และคณะทำงานของตนกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ ทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ควรมีมติเร่งรัดเช่นนี้ออกมา ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างความแคลงใจให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ในพืชผัก สมุนไพร ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะมีการใช้น้อยมาก ซึ่งก็ต้องอยู่ที่กรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมายให้ไปกำหนดแนวทางการยกเลิกและจำกัดการใช้ว่าจะเดินเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าก็จะได้มีการเชิญกรมวิชาการเกษตรเข้ามาชี้แจง ซึ่งปัจจุบันมันมีทางออกเพื่อใช้สารทดแทนแทนการใช้สารเคมี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรต้องมีการนำเสนอข้อมูลเหล่านั้น
นอกจากนี้ในขณะนี้หลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาทกับการจะแบนหรือไม่แบนสารเคมี ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงเห็นว่าต้องมีการเชิญผู้ประกอบการเข้ามาร่วมหารือด้วย จึงได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีมติเช่นนี้ออกมาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะทำให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ทำงานยากขึ้นหรือไม่ นายธีระ กล่าวว่า คิดว่าไม่ทำให้การทำงานยากขึ้น เพราะในวันที่ 7-8 ก.ย.นี้ จะได้มีการลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากท่านนายกฯให้ร่วมลงพื้นที่หาข้อมูลด้วย ซึ่งเดิมที่จะต้องมีการเสนอไปที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีฯ แต่เมื่อมีมติเช่นนี้ก็ต้องมีการจัดทำข้อมูลเสนอไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ภาคประชาชนเห็นว่ามติใหม่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้นเป็นลูกเล่นโดยการเล่นคำ หรือมีนัยยะเป็นการตอกย้ำให้มีการใช้ต่อไป ซึ่งการที่จะยกเลิกการใช้ในพืช ผัก และพืชสมุนไพรเป็นเรื่องตลก ซึ่งไม่ได้มีการใช้โดยทั่วไปหรือแทบไม่ได้ใช้อยู่แล้ว แต่มีการใช้กันในพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่รวมกันหลายล้านไร่ในประเทศ และที่จะให้มีการจำกัดการใช้นั้นเห็นว่าเป็นการย้อนถอยหลังในมาตรการการแก้ปัญหาของประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยมีการลองจำกัดการใช้มาเป็น 10 ปี และพบว่าไม่ได้ผลจนนำมาสู่การยกเลิกการใช้ เช่น ประเทศจีน เคยมีการกำหนดให้มีการจำกัดการใช้พาราควอตมาแล้ว ซึ่งก็พบว่าไม่สามารถคุ้มครองสุขภาพประชาชนได้ จึงจะได้มีการยกเลิกการใช้ภายใน 2 ปี และประเทศ บราซิล ที่เคยจำกัดการใช้พาราควอตว่าอนุญาตให้ใช้รถแทรกเตอร์และไม่อนุญาตให้คนฉีดเอง ปรากฏว่าไม่มีความปลอดภัยจึงได้นำมาสู่มติการแบนเช่นเดียวกัน และการกำจัดการใช้ในไทยเป็นไปได้ยาก เพราะยังขาดการเอาจริงเอาจัง การจำกัดการใช้ยังไม่ครอบคลุม หากมีการจำกัดการใช้คิดว่าก็จะต้องมีการใช้กันทั่วไปเช่นเดิม.