PTTGC ทุ่มพันล้าน ปั้นโรงงานรีไซเคิล จีบ “วงษ์พาณิชย์” ป้อนวัตถุดิบ (12 ส.ค. 61)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 12 สิงหาคม 2561
PTTGC ทุ่มพันล้าน ปั้นโรงงานรีไซเคิล จีบ “วงษ์พาณิชย์” ป้อนวัตถุดิบ
PTTGC จ่อทุ่ม 1,000 ล้าน ยึดระยอง สร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติกจับมือเจ้าพ่อขยะ “วงษ์พาณิชย์” ป้อนขยะพลาสติกเข้าโรงงาน 4,000 ตัน หนุน BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์โรงงานรีไซเคิล
แหล่งข่าวจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาการลงทุนจาก 3 ทางเลือก คือ
1) โรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์จากขวดพลาสติก 2) โรงงานหลอมและขึ้นรูปพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เฉพาะขวดพลาสติก (PET) และ3) โรงงานที่นำขยะพลาสติกมาวนใช้ หรือใช้เป็นส่วนผสมของโปรดักต์อื่น ๆ
โดยทั้ง 3 แนวทางจะต้องศึกษาเชิงลึกในแง่ของความคุ้มค่าลงทุน มีเทคโนโลยีรองรับหรือไม่ และที่สำคัญ สามารถมาปรับใช้กับขยะพลาสติกในประเทศไทยได้หรือไม่ รวมถึงต้องติดตามเทรนด์ในการใช้พลาสติกของผู้บริโภคในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งหมดล้วนแต่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยตัดสินใจว่าควรจะลงทุนอย่างไร
นอกจากนี้ บริษัท พีทีที โกลบอลฯ ยังเตรียมจะลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อป้อนขยะพลาสติกให้กับโรงงานรีไซเคิลอีกหลายรายในอนาคต จาการประเมินเบื้องต้นน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยพื้นที่ตั้งของโรงงานรีไซเคิลจะอยู่ในจังหวัดระยอง ใกล้กับโรงงานเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทำให้การบริหารจัดการเป็นไปตามระบบ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไป
“ด้วยความที่อุตสาหกรรมพลาสติกมีสายการผลิตยาวมาก และสามารถผลิตเป็นโปรดักต์ได้หลากหลาย จึงต้องรอดูผลการศึกษาที่ชัดเจนว่าลงทุนในรูปแบบใดถึงจะคุ้มค่าและต่อยอดได้อีกในอนาคต แต่ PTTGC จะไม่ลงลึกถึงการผลิตออกมาเป็นโปรดักต์ เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า และกระเป๋า แต่เราจะร่วมมือกับผู้ผลิตในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการออกแบบโปรดักต์ให้มีความน่าสนใจ จากขยะที่เราทิ้งก็จะเปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของ PTTGC นั่นคือการใช้พลาสติกได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่ามากที่สุด”
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการคัดแยกขยะกล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะมีการลงนามข้อตกลง (MOA) ระหว่างพีทีที โกลบอลฯกับผู้ค้า กับบริษัทคัดแยกขยะรายใหญ่ คาดว่าจะเป็นบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด เพื่อจัดหาขยะพลาสติกเพื่อป้อนโรงงานรีไซเคิลในช่วงเริ่มต้นที่ 3,000-4,000 ตัน ซึ่งวงษ์พาณิชนย์มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1,600 แห่ง
ทั้งนี้ มองว่าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการลงทุน หรือจัดการกับปริมาณขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพควรเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ให้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรเพิ่มแรงจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ที่มากกว่าในปัจจุบัน หรือหากชุมชนในพื้นที่ใดที่มีศักยภาพอาจจะพัฒนาการลงทุนในรูปแบบ startup เพื่อเปิดให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ด้วย
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า สำหรับประเภทกิจการที่นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่นั้น จัดอยู่ในกลุ่ม A1 และ A2 คือ เป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ เน้นการออกแบบ ทำ R&D เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลรวม 8 ปี (ไม่ cap วงเงิน) และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
ขณะที่ในกลุ่ม A2 รวมถึงเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ และกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่มีการลงทุนในประเทศน้อย หรือยังไม่มีการลงทุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลของบริษัท พีทีที โกลบอลฯนั้น เริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (corporate social responsibility) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเกิดความร่วมมือในโครงการ Upcycling The Oceans Thailand เก็บขยะพลาสติกจากกว่า 10 ตัน จากท้องทะเลเกาะเสม็ด ในจังหวัดระยอง แล้วนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋าที่ทันสมัย ด้วยดีไซน์จากความร่วมมือของมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf) ประเทศสเปน ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นที่นำขยะจากท้องทะเลมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี
นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรอีกหลายองค์กรที่จะร่วมกันนำขยะพลาสติกไปผสมในโปรดักต์อื่น ๆ อย่างเช่น บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งจะนำขยะ
พลาสติกนำไปผสมกับคอนกรีตเพื่อผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างอย่างอิฐปูทางเท้าเพื่อใช้ในโครงการอีกด้วย ตรงนี้จึงทำให้บริษัท พีทีที โกลบอลฯ มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจต่อไปในอนาคต