กลุ่มอนุรักษ์ "ลำน้ำเซบาย" เสนอรัฐทบทวน EIA โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้า ขอผู้ว่าฯตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง (11 ก.ค. 61)
ประชาไท 11 กรกฎาคม 2561
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เสนอรัฐทบทวน EIA โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้า ขอผู้ว่าฯตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย รวมตัวหน้าหมู่บ้านคัดค้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ยก 4 เหตุผลโต้รายงาน EIA เสนนรัฐบาลเร่งทบทวน พร้อมขอผู้ว่าฯ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 เวลา 09.30 น.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 250 คน รวมตัวกันบริเวณปาทางสามแยกทางเข้าหมู่บ้านเชียงเพ็ง เพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จากกรณีที่จะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างไปอย่างรวดเร็ว หลังจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ได้รับมติเห็นเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา และทางบริษัทได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดยทางกระทรวงอุสาหกรรมได้อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
มะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล แม้จะเป็นการก่อสร้างในเขตพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ แต่ก็จุดที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ใน ต.เชียงเพ็ง และตำบลอื่นๆ ใน จ.ยโสธรซึ่งอยู่ในผลที่รัศมี 5 กิโลเมตร ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่กระบวนการที่ผ่านชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินการของภาครัฐและผู้ประกอบการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แม้ที่ผ่านมาทางกลุ่มจะได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านมาโดยตลอด
มะลิจิตร ระบุด้วยว่า รายงานEIA ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วนั้น มีความขัดแย้งกับข้อมูลของชุมชน อย่างน้อย 4 ประเด็นหลัก คือ
1.ในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่พื้นที่รัศมี กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่ได้ทีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
2.ไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่จะก่อให้เกิดการแย้งชิงทรัพยากรน้ำจากชุมชน
3. การดำเนินกิจการดังกล่าวขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564 โดยเฉพาะ จังหวัดยโสธรที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือพืชอื่นๆ ที่เป็นพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเมืองแห่งวิถีอีสาน ซึ่งการดำเนินนโยบายของจังหวัดจะไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่า
4.ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ แต่ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ปัญหาการจราจร และอื่นๆ
สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การที่ชาวบ้านออกมาแสดงพลังในครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่เอาโรงงานน้ำตาล ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล และไม่ยอมรับอีไอเอที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร พื้นที่ตำบลอื่นและชาวบ้านที่อาศัยลำน้ำเซบายซึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีข้อเสนอ 2 ระดับดังนี้ คือ
1.ระดับนโยบาย เสนอให้ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โรงงานน้ำตาลทราย บริษัทมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (อำนาจเจริญ) และเสนอให้ ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลขั้นตอนกระบวนการได้มาซึ่งใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาล เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ
2.ในระดับพื้นที่ เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรชุมชน และสุขภาพ กรณีที่ชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ จ.ยโสธร คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล