ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก - ครึ่งปี "นำเข้า 3 แสนตัน" ศุลกากรเน้นส่งกลับ-ขอตรวจซ้ำ 100% ทุกล็อต (4 ก.ค. 61)

Green News TV 4 กรกฎาคม 2561
ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก-ครึ่งปีนำเข้า 3 แสนตัน ศุลกากรเน้นส่งกลับ-ขอตรวจซ้ำ 100% ทุกล็อต 

กรมศุลกากรเผยครึ่งปี 2561 ขยะพิษทะลัก 3.1 แสนตัน เร่งส่งกลับประเทศต้นทาง จับมือกรมโรงงานฯ ตรวจสอบซ้ำ นักวิชาการจี้ยกเลิกการนำเข้า แนะ สนช.ทำคลอดกฎหมายกำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2561 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาหัวข้อ “ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก?” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า สถานการขยะของเสียอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ในปี 2560 มีปริมาณนำเข้าถึง 5.2 หมื่นตัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค.2561 เพียง 5 เดือนมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 8,000 ตัน พบมากคือจอภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว

นอกนั้นเป็นเศษพลาสติกที่เพิ่มขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2558-2559 อยู่ที่ 5-6 หมื่นตัน และในปี 2560 ขึ้นมาเป็น 1.6 แสนตัน ซึ่งเริ่มมีความกังวลว่าทำไมจึงมีการนำเข้ามากขึ้นขนาดนั้น จึงสั่งการให้ทุกท่าเรือเร่งสำรวจและพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 พ.ค.2561 มีขยะพลาสติกเข้ามาแล้ว 3.1 แสนตัน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และให้ติดตามเฝ้าระวังพร้อมทั้งกักสิ้นค้าเหล่านี้ไว้

“มีการสำแดงเป็นเม็ดพลาสติก แต่บางตู้เปิดมาเป็นแผงวงจรก็จับว่ามีการสำแดงเท็จ จึงประชุมร่วมกับกรมโรงงานฯ ต่อไปนี้เราจะขอตรวจการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก 100% เราจะเอ็กซเรย์หมดทุกตู้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อดำเนินการแล้วพบว่าบริษัทนำเข้าสินค้าเหล่านี้ที่โดนจับไปแล้วได้ทิ้งของไว้ที่ท่าเรือหมด โดยขณะนี้ท่าเรือทุกแห่งที่ศุลกากรรับผิดชอบมีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะพิษรวมทั้งหมด 1,811 ตู้ถูกทิ้งเอาไว้ และไม่มีคนมาทำเรื่องขอผ่านออกไป ซึ่งหากไม่มีคนมานำออกไปประเทศไทยจะกลายเป็นที่ทิ้งขยะของโลกของจริงแน่ๆ” นายกุลิศ กล่าว

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำได้หากไม่นำออกภายใน 30 วัน เป็นอำนาจของอธิบดีที่จะดำเนินการให้ขยะหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน และจะดำเนินการโดย 1.ทำลาย 2.เปิดประมูลให้ผู้รับใบอนุญาต ที่กำหนดว่าจะต้องประมูลแล้วส่งออกไปทันที และ 3.ประสานสายเดินเรือให้นำกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้เป็นห่วงว่าการดำเนินคดีถ้าส่งฟ้องบริษัทที่สำแดงเท็จ ในระหว่างดำเนินคดีขยะเหล่านี้จะตกเป็นของกลาง ซึ่งจะทำอะไรไม่ได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

“ขยะ 1,811 ตู้เราทำอะไรไม่ได้ ฝนตกแดดร้อนก็จะละลายออกมา ดังนั้นสิ่งที่สมควรทำคือส่งกลับโดยประสานกับสายการเดินเรือ ซึ่งได้หารือกรมโรงงานฯ ถ้าสายเดินเรือไม่รับจะมีกฎหมายช่องทางดำเนินการส่งกลับได้หรือไม่ อย่าให้มันตกค้างให้เรากลายเป็นแดนขยะโลกของจริง” นายกุลิศ ระบุ

นอกจากนี้ ต้องเตรียมรับมือโดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เช่นนั้นอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศจีนจะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาไทย โดยมีข้อกำหนดการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่ไม่ต้องเสียภาษี ปัญหาที่จะตามมาคือแบตเตอรี่จากรถไฟฟ้าที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งต้องเตรียมแผนการรองรับและภาครัฐจะต้องบูรณาการร่วมกันในการดูแล

“เราจะล้อมคอกอย่างไรให้แน่นหนา ที่ผ่านมาได้ทำฐานระบบข้อมูลร่วมกับกรมโรงงานฯ และผมเสนอให้ใช้มาตการเดียวกับการแก้ปัญหาไอยูยู ในเรื่องการทำประมง คือต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้หมดว่า ปริมาณขยะทั้งหมดที่เข้ามากระจายไปที่โรงงานใดบ้าง แยกเป็นของดีของเสียต้องเท่ากับปริมาณนำเข้าว่าได้เท่ากันหรือไม่ เป็นต้น” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าว

ด้าน นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการตั้งโรงงานในลำดับ 105 เรื่องการคัดแยกขยะและโรงงานประเภท 106 การรีไซเคิลขยะของไทยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทำให้ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ทำให้โรงงานเหล่านี้ไปตั้งที่ไหนก็ได้ โดยส่วนมากไปตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน รวมทั้งมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 จึงเอื้อให้มีโรงงานเกิดขึ้นเต็มไปหมด

นายสนธิ ได้เสนอว่า กรมโรงงานฯ ต้องมีความชัดเจนในการยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยให้ใช้ขยะภายในประเทศแทน นอกจากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องเร่งออก พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการกำจัด ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือปัญหาขยะะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีโรงงานเกิดขึ้นอีก 600 แห่งด้วย