ขยะอิเล็กฯ-พลาสติกค้าง1,811ตู้ เอกชนไม่มาเอาจ่อยึดทำลาย-เปิดประมูลคืนต้นทาง (4 ก.ค. 61)
สำนักข่าวอิศรา 4 กรกฎาคม 2561
ขยะอิเล็กฯ-พลาสติกค้าง1,811ตู้ เอกชนไม่มาเอาจ่อยึดทำลาย-เปิดประมูลคืนต้นทาง
อธิบดีกรมศุลกากร เผยปัญหาสำคัญหลังบุกกวาดล้างขบวนการนำเข้าขยะอิเล็กฯ-พลาสติก คือตู้สินค้าค้างท่าเรือกว่า 1,811 ตู้ ไม่มีใครกล้ามาดำเนินการ จ่อใช้มาตรการยึดทำลาย-เปิดประมูลให้เอกชนมีใบอนุญาตนส่งคืนประเทศต้นทาง เผยไม่ดำเนินคดีฟ้องศาล หวั่นของกลางค้างนาน อาจทำให้ไทยกลายเป็นแดนทิ้งขยะโลกของจริง จ่อบูรณาการทุกหน่วยแก้ไข
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาสถานการณ์นำเข้า/ส่งออก ขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร นางดาวัลย์ จัทรหัสดี มูลนิธิบูรณะนิเวศ นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย และตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เป็นผู้ร่วมเสวนา
เบื้องต้น นายกุลิศ กล่าวว่า การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาบาเซล และ พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยหน้าที่กำกับดูแล และออกใบอนุญาตการนำเข้าคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยการออกใบอนุญาตประเภท วอ4 และ วอ6 คือ การตรวจสอบว่า โรงงานมีขีดความสามารถในการกำจัดสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าหรือไม่ และเอกสารต้นกำเนิดขยะดังกล่าวคืออะไร หากโรงงานที่ยื่นใบอนุญาต วอ4 และวอ6 แล้ว กรมศุลกากรจึงจะปล่อยของออกไป
“เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้ามา 100% คุณแยกของที่ต้องใช้ได้แค่ 5-10% อีก 90-95% เป็นของเสีย คุณต้องมีวิธีการทำลายถูกต้องตามที่กรมโรงงานฯอนุญาต และเอกสารสำแดงแหล่งกำเนิดว่าเอามาจากประเทศไหนถึงจะนำออกจากท่าเรือได้ โดยกรมศุลกากรจะดูใบ วอ4 และวอ6 หากคุณมีใบอนุญาต เราปล่อยของออกไป เพราะแน่ใจว่าคุณทำลายตรงนี้ได้” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ส่วนการนำเข้าขยะประเภทพลาสติกนั้น พบว่า ขยะกลุ่มนี้มียอดนำเข้าเยอะมากในช่วงปีหลัง ๆ โดยปี 2558 นำเข้า 5.6 หมื่นตัน ปี 2559 นำเข้า 6.9 หมื่นตัน ปี 2560 ขยับเป็นนำเข้า 1.66 แสนตัน และช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2561 มียอดนำเข้าสูงถึง 3.13 แสนตัน เรียกได้ว่าเยอะกว่าปี 2558-2560 มารวมกันอีก ทำให้กรมศุลกากรเริ่มกังวลว่า ทำไมนำเข้าเยอะขนาดนี้ การนำเข้าถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นกรมศุลกากรจึงกักตู้ที่สำแดงว่านำเข้าขยะพลาสติกเหล่านี้ไว้ตรวจสอบก่อน เมื่อเอ็กซ์เรย์ และเปิดตู้ จึงพบว่าเป็นการสำแดงเท็จ และแอบสอดไส้ขยะอิเล็กทรอนิกส์มาด้วย จนเป็นที่มาของการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมโรงงานฯ ไปดำเนินการตรวจค้นตู้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ก่อนขยายผลบุกตรวจค้นโรงงานอื่น ๆ อีกหลายแห่ง
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เบื้องต้นกรมศุลกากรได้เชิญกรมโรงงานฯ โดยอธิบดีกรมโรงงานมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหานี้ มีข้อสรุปว่า ต่อจากนี้จะขอตรวจตู้สินค้าที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก 100% ยกตัวอย่างข้อมูลเดือนหนึ่งนำเข้าขยะประเภทนี้ประมาณ 500 ตู้ จะตรวจเอ็กซ์เรย์ทั้งหมด และถ้าบริษัทไหนที่อยู่ในแบล็คลิสต์เคยลอบนำเข้า จะเปิดตู้ตรวจด้วย
นายกุลิศ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญขณะนี้คือ เมื่อตำรวจขยายผลจับกุมบริษัท หรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ตู้สินค้าที่บริษัทเหล่านี้นำเข้ามา ค้างอยู่ที่ท่าเรือในกำกับดูแลของกรมศุลกากร รวมกว่า 1,811 ตู้ ดังนั้นหากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ต่อไป ประเทศไทยจะกลายเป็นแดนขยะโลกของจริง เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่ไม้มีค่า หรือของมีค่าที่เอาไปประมูลขายเหมือนของกลางอย่างอื่นได้ ดังนั้นเบื้องต้นที่กรมศุลกากรจะทำคือ ถ้าหากบริษัท หรือโรงงานที่นำเข้า ไม่มาทำพิธีการทางศุลกากรภายใน 30 วัน เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรให้สินค้าดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หลังจากนั้นอาจสั่งทำลาย หรือเปิดประมูลให้กับบริษัทที่มีใบอนุญาต และต้องส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศต้นทางโดยทันที
ส่วนกรณีมีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับบริษัท หรือโรงงานนั้น นายกุลิศ กล่าวว่า หลายคนห่วงส่วนนี้ ข้อเท็จจริงคือ หากมีการส่งฟ้องดำเนินคดีกับบริษัท หรือโรงงาน สินค้าเหล่านี้ที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือประมาณ 1,811 ตู้ จะทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นของกลาง ต้องค้างอยู่อย่างนั้นจนกว่าคดีจะสิ้นสุด คราวนี้กลายเป็นภาระของกรมศุลกากร จึงเห็นควรว่าควรต้องผลักดันสินค้าเหล่านี้กลับไปยังต้นทาง โดยประสานงานกับสายการเดินเรือ อย่างไรก็ดีกำลังนัดหารือกับกรมโรงงานฯว่า ถ้าเกิดสายการเดินเรือที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ไม่รับกลับ จะมีกฎหมายอะไรที่บังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้บ้าง อย่าให้ตกค้างในประเทศไทย ไม่ให้กลายเป็นแดนขยะโลกของจริง
“นอกจากนี้ยังเตรียมประสานงานกับ สตช. และกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ขยะจากนอกประเทศ กลายเป็นที่ทิ้งขยะในประเทศ ขณะเดียวกันสิ่งที่เตรียมรับมือคือ กรณีมีการเถียงว่าใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ ดังนั้นต้องเตรียมบูรณาการหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน” นายกุลิศ กล่าว