กรมศุลจับตา‘ขยะพิษ’ หวั่นแอบทิ้งในทะเลหลังไทยตีกลับ (27 มิ.ย. 61)
แนวหน้าออนไลน์ 27 มิถุนายน 2561
กรมศุลจับตา‘ขยะพิษ’ หวั่นแอบทิ้งในทะเลหลังไทยตีกลับ
นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ กรมศุลกากร, กรมโรงงานออกประกาศชะลอการพิจารณาอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ตั้งแต่ 22 มิถุนายน 2561 นั้นแต่ยังมีกรณีที่มีการขออนุญาตนำเข้าก่อนหน้านี้โดยนำเข้าผ่านท่าเรือคลองเตย ต้องทำการตรวจสอบ 428 ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง 1,000 ตู้ ดังนั้น กรมศุลกากร จึงร่วมกับกรมโรงงานเปิดตู้ตรวจสอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ที่ทำผิดเงื่อนไข ไม่มีใบอนุญาต ในเบื้องต้นพบว่าต้องดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางทั้ง 2 ท่าเรือ กว่า 400 ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์
นอกจากนี้ กรมศุลกากร ยังได้ประสาน กองทัพเรือติดตามดูแลการลักลอบทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในทะเลอ่าวไทยด้วย แต่ยอมรับว่ากระทำได้ยาก เพราะการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์อาจส่งผลต่อการลอยเรือในทะเล
มีรายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้เห็นชอบห้ามโรงงานใช้ซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่มาจากการนำเข้ามาใช้ในการผลิต โดยใช้อำนาจตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 32 วรรค 2 กำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วน ของวัตถุดิบแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบและปัจจัยหรือชนิดของพลังงานที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเร็วๆ นี้
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ชะลอการพิจารณาอนุญาตนำเศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือจนกว่าคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบจะได้มีแนวทางหรือนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
มีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอ คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมีระบบ ที่มีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พิจารณาให้อนุโลมการนำเข้าขยะ 2 ประเภท คือ 1.ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้น ยังไม่มีการแกะ เพราะสามารถแยกชิ้นส่วนนำเอาโลหะที่มีค่าออกมาใช้ประโยชน์ได้ 2.เศษพลาสติกสะอาด นำเข้ามาเพื่อผลิตพลาสติกและโรงงานนำเข้ามาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเท่านั้น