ร้าน ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ เจ๋งเลิกแจกถุงพลาสติก ผนึก 31 มหาวิทยาลัยวางเป้าลด 100 ล้านใบ (5 ก.ค. 61)

Green News TV 5 กรกฎาคม 2561
ร้าน ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ เจ๋งเลิกแจกถุงพลาสติก ผนึก 31 มหาวิทยาลัยวางเป้าลด 100 ล้านใบ 

ธรรมศาสตร์ดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัย จับมือ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ลงนามลดขยะพลาสติกในสถาบันอุดมศึกษา งัดมาตรการเลิกแจกถุง ช้อน-ส้อมต้องขอ นำแก้วมาเองลดราคาให้

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2561 สถาบันการศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวม 31 แห่ง ได้ลงนามร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เพื่อผลักดันการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย ผ่าน 4 มาตรการ ตั้งเป้าลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจากร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นศูนย์

ทั้ง 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกการให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว โดยเปลี่ยนเป็นการจำหน่าย, จัดเตรียมถุงให้ยืม หรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสม 2.ลดปริมาณแก้วพลาสติก โดยร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะลดราคาให้ 2 บาท สำหรับผู้ที่นำแก้วมาเอง 3.ลดปริมาณช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก โดยพนักงานร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะไม่ให้หากผู้ซื้อไม่ร้องขอ 4.ยกเลิกภาชนะจากโฟม ทั้งในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และร้านอื่นๆ ตลอดจนโรงอาหารของมหาวิทยาลัย

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะดำเนินในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวนกว่า 70 สาขา ในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจำนวน 31 สถาบัน ซึ่งมีจำนวนนิสิต นักศึกษา รวมกันกว่า 7 แสนคน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการผลิตขยะพลาสติกได้จำนวนมาก

“ที่ผ่านมา มธ.ได้ดำเนินโครงการหลากหลายรูปแบบ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อได้ราว 30% หรือกว่า 1.8 ล้านใบจากปีก่อนหน้า ในปีนี้ มธ.จึงร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากแนวทางหนึ่ง เพื่อลดการผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและขยะโฟมของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายรวม 31 แห่ง และคาดหวังให้ขยายไปยังสาขาภายนอก รวมถึงร้านค้าอื่นๆ ต่อไป” ผศ.ปริญญา กล่าว

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางเซเว่น อีเลฟเว่น ได้มีการณรงค์ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากว่า 10 ปี แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวเลขการลดใช้ได้ ขณะเดียวกันภายหลังรณรงค์ไปไม่นานประชาชนก็กลับมาใช้ถุงพลาสติกตามเดิม ที่ผ่านมาจึงทำได้เพียงสร้างการรับรู้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเริ่มโครงการลดถุงพลาสติกร่วมกับ มธ. เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ และพบว่าได้ผลอย่างจริงจัง จนสามารถต่อยอดไปอีกหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละแห่งสามารถลดการใช้ไปได้ 80-90% ขณะเดียวกันบางมหาวิทยาลัยยังมีโรงพยาบาลในสังกัด เช่น ศิริราช รามาธิบดี หรือจุฬาฯ ที่ได้ร่วมรณรงค์ด้วย และได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน

“ในปี 2560 สามารถลดถุงพลาสติกไปได้ 24 ล้านใบ ขณะที่ปี 2561 เพียง 4 เดือนแรกลดไปแล้ว 30 ล้านใบ จึงคาดว่าตลอดทั้งปีน่าจะลดได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านใบ” นายสุวิทย์ ระบุ

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันขยะพลาสติกกลายเป็นกระแสที่ประชาชนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือกันมากขึ้น ดังนั้นนอกจากรณรงค์ลดการใช้พลาสติกในร้านเครือเซเว่น อีเลฟเว่น ในมหาวิทยาลัยแล้ว จะขยายไปยังสาขารอบๆ มหาวิทยาลัยด้วย

“เวลาซื้อของชิ้นเดียวจะมีการถามก่อนว่าเอาถุงหรือไม่ ส่วนโฟมเลิกไปนานแล้ว ขณะที่แคปซีลก็เลิกไปแล้วทุกสาขา อาจยังมีเหลือสต๊อคเก่า แต่ของใหม่หากน้ำดื่มเจ้าไหนส่งมายังมีแคปซีลอยู่เราจะไม่รับ ในอนาคตประเทศไทยอาจเลิกแจกถุงพลาสติก หรือต้องซื้อเหมือนในต่างประเทศ” นายสุวิทย์ กล่าว

สำหรับ มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 31 แห่ง ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 3.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 4.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6.มหาวิทยาลัยทักษิณ 7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

10.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 11.มหาวิทยาลัยนเรศวร 12.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 13.มหาวิทยาลัยบูรพา 14.มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 15.มหาวิทยาลัยพะเยา 16.มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 18.มหาวิทยาลัยมหิดล 19.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 20.มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์

21.มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง 22.มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี 23.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 24.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 25.มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒม์ 26.มหาวิทยาลัยศิลปากร 27.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28.มหาวิทยาลัยสยาม 29.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 30.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ 31.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์