เกษตรกรขอบคุณนายกฯ ไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต (7 ก.ค. 61)

แนวหน้าออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2561
เกษตรกรขอบคุณนายกฯ ไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต

พร้อมเสนอแนวทางจำกัดการใช้สารเคมี

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และสมาคมเกษตรปลอดภัย ผู้แทนเกษตรกร 30,000 ราย ยื่นหนังสือขอบคุณ นายกรัฐมนตรี และกรมวิชาการเกษตร ในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่มีมติไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส พร้อมนำเสนอ 

นายสัญญา ปานสวี รักษาการเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรได้รวบรวมรายชื่อกว่า 30,000 ราย นำเสนอรายชื่อคัดค้านการยกเลิกใช้สารเคมีทั้งสามชนิดไปยัง พล.อ.ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว จึงได้จัดทำหนังสือขอบคุณผ่านสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ถึง นายกรัฐมนตรีสำหรับการพิจารณาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จนมีมติ ไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส สอดคล้องกับประสบการณ์จริงของเกษตรที่ไม่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพตามข้อกล่าวอ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯยังได้ร่วมกับ สมาคมเกษตรปลอดภัย และกลุ่มเกษตรกรกว่า 30,000 ราย รวบรวมแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ยึดหลักตามความเป็นจริงที่สามารถปฏิบัติได้ และจัดทำเป็นบทสรุปมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ฉบับเกษตรกรขึ้น ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบบ้างในระยะแรก เกษตรกรก็พร้อมปรับตัว

 ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เกษตรกรดีเด่นสาขาทำไร่ ทำนา และไร่นาสวนผสม กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจังในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกรผ่านการอบรมการฉีดพ่นสารเคมี การป้องกันตนเองและสิ่งแวดล้อมจากการฉีดพ่นสารเคมี ไปจนถึงการปลูกฝังความคิด สร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ค่ายธรรม(ชาติ)เกษตร เพื่อสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพในอนาคต

นายสุกรรณ์ ยังกล่าวถึงมาตรการจำกัดการใช้ฉบับเกษตรกรว่า การแบนไม่ใช่คำตอบ แต่การใช้ที่ถูกต้องคือสาระสำคัญ โดยจะต้องมีมาตรการควบคุมและดูแลใน 6 กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ 1. ร้านค้าเคมี จะต้องออกกฎบังคับให้มีการอบรมอย่างเข้มข้นไม่ใช่สองวันจบ ร้านค้าต้องเสียสละเวลามาอบรมในแต่ละเรื่อง และภาครัฐจะต้องประเมินผลสม่ำเสมอ บังคับให้มีนักวิชาการเกษตรประจำร้าน เหมือนเภสัชกร  2. บริษัทเคมีเกษตร ออกกฎบังคับให้จัดอบรมเกษตรกร และจัดทำรายงานให้แก่ภาครัฐ หากเอกชนรายใดปฏิบัติไม่ได้  3. ผู้ซื้อ จำกัดเฉพาะผู้ถือบัตรเกษตรกรเท่านั้น ควบคู่ไปกับร้านค้าจัดทำบันทึกการซื้อขาย เพื่อการตรวจสอบในอนาคต 4. ภาครัฐ ถ่ายทอดความรู้ด้านการวินิจฉัยศัตรูพืช รวมทั้งการฉีดพ่นอย่างต่อเนื่อง และระบุข้อความในฉลากให้ครบ โดยเฉพาะคำเตือนต่างๆ ต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ทุกวัน 5. ผู้รับจ้างฉีดพ่น ออกกฎบังคับให้มีการขึ้นทะเบียน ผู้รับจ้างฉีดพ่นจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบ รวมทั้งมีการวัดระดับความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก)  6. เกษตรกรทุกราย จะต้องเข้าสู่ระบบกระบวนการเกษตรปลอดภัย หรือ GAP ภาคบังคับ ไม่ใช่ระบบสมัครใจแบบเดิม โดยเกษตรกร 5 ล้านครอบครัว และเกษตรกรรายย่อย 17-20 ล้านคน ยินดีและพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทุกภาคส่วน