ครบทุกชื่อ! 148 รง.บดขยะอิเล็กฯปลัดอุตฯส่ง จนท.สอบด่วน - เจอแล้ว 12 แห่งพัวพัน (21 มิ.ย. 61)

สำนักข่าวอิศรา 21 มิถุนายน 2561
ครบทุกชื่อ!148 รง.บดขยะอิเล็กฯปลัดอุตฯส่ง จนท.สอบด่วน-เจอแล้ว12แห่งพัวพัน

เปิดครบหมดทุกชื่อ 148 โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบดย่อยขยะอิเล็กฯทั่วประเทศ ก่อนปลัด ก.อุตฯ สั่ง จนท. ลงพื้นที่สอบด่วน หลังคณะทำงานร่วมฯลุยค้น-ขยายผลจับกุมขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กฯ พบเบื้องต้นมี 12 โรงงานพัวพัน

 การตรวจค้น-จับกุมกลุ่มขบวนการข้ามชาติลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร กำลังดำเนินการไปอย่างเข้มข้น  

เบื้องต้นส่งผลสะเทือนให้กรมโรงงานฯ จำเป็นต้องพักใบอนุญาตเอกชนผู้ได้ใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 5 ราย จากทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด บริษัท เจ.พี.เอส.เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นเเนล จำกัด ที่พบว่ามีการขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานอื่น ๆ และบุคคลรวม 6 ราย ถือว่ามีความผิด และดำเนินการไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขการขอใบอนุญาต ที่ต้องเป็นผู้กำจัดขยะเองทั้งหมด ห้ามส่งต่อโรงงานอื่น (อ่านประกอบ : พลิกข้อมูล 6 รง.‘นอมินี’ขนถ่าย-กำจัดขยะอิเล็กฯหมื่นตันแทนเอกชนได้ใบอนุญาตฯ) 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้สั่งการให้ดำเนินการขั้น ‘เด็ดขาด’ ทั้งเอกชนที่ทำผิด รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตให้ความร่วมมือกับขบวนการเหล่านี้ และอาจใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย (อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์) 

ทั้งนี้หลังเกิดปัญหาดังกล่าว นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานที่แจ้งประกอบกิจการบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีเหล่านี้หรือไม่ โดยขีดเส้นทำให้แล้วเสร็จภายใน 31 ส.ค. 2561 นี้ (อ่านประกอบ : โชว์คำสั่งปลัด ก.อุตฯสั่งสอบ รง.บดขยะอิเล็กฯ148แห่งทั่ว ปท.-ขีดเส้นเสร็จ15 ส.ค.) 

เพราะที่ผ่านมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า โรงงานที่แจ้งประกอบกิจการบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์บางแห่ง เป็นผู้รับขยะดังกล่าวมากำจัดเอง จากบรรดาเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต ? 

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า มีบุคคล-โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีส่วนพัวพันในขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 12 แห่ง จากทั้งหมด 148 แห่งที่ได้รับใบอนุญาต ดังนี้

1.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด มีเลขทะเบียนโรงงาน 2 ฉบับ ฉบับแรกได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2559 ฉบับที่ 2 ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2561 โดยบริษัทแห่งนี้ ถูกกรมโรงงานฯพักใบอนุญาตไปแล้ว และพบพฤติการณ์ว่า ขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จำนวน 1,120 ตัน บริษัท อิซัน อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 2,952 ตัน 

2.บริษัท อิซัน อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ยื่นคำขอเลขทะเบียนโรงงานเมื่อปี 2561 (ปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาต) ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 2,952 ตัน มาดำเนินการเอง 

3.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2558 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกกรมโรงงานฯพักใบอนุญาต และพบพฤติการณ์ว่า ขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จำนวน 350 ตัน 

4.บริษัท เอส.เอส.อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกกรมโรงงานฯพักใบอนุญาต และมีพฤติการณ์ขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 186 ตัน 

5.บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2560 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 1,120 ตัน บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด จำนวน 350 ตัน และบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 120 ตัน มาจัดการแทน 

6.นายจำรัส พลายกระสินธ์ ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2560 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้รับขยะจากบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 500 ตัน มาจัดการเอง นอกจากนี้นายจำรัส ยังเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการของบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดด้วย โดยช่วงปี 2559 ได้แจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก ปีเดียวกันได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท หยั่งถง ไทย จำกัด ที่ก่อตั้งโดยคนจีน และเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท หยั่งถง ไทย จำกัด ในเวลาต่อมา ข้อมูลจากกรมโรงงานฯ ระบุว่า บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด และบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คือ 2 เอกชนที่ได้รับโควตารวม 9 หมื่นตัน จากทั้งหมดประมาณ 1.21 แสนตัน คิดเป็น 74% ของโควตานำเข้าทั้งหมด 

7.บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกกรมโรงงานฯพักใบอนุญาต และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัท ยงถัง จำกัด จำนวน 664 ตัน โดยมีข้อมูลน่าสนใจว่า นายเลี่ยว ยื้อจิน กรรมการบริษัท ยงถัง จำกัด เคยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด ด้วย 

8.บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด ได้รับใบอนุญาต 9 ฉบับ โดยเกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2561 ทั้งหมด ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 8,139 ตัน 

9.บริษัท เหรียญทอง อีโค รีโนเวชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2560 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกกรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบพบว่า เป็นผู้ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำแดงสินค้าเป็นเท็จ  

10.บริษัท จงซึ่ง จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย บุกตรวจค้น และพบว่า ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์  

11.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2558 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกกรมโรงงานฯพักใบอนุญาต และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ขนถ่ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จำนวน 120 ตัน นายจำรัส พลายกระสินธ์ (กรรมการบริษัทตัวเอง) 500 ตัน และบริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด 8,139 ตัน 

12.บริษัท ซันเหลียน ไทย จำกัด ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 เป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ระบุว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

นี่คือข้อมูลเอกชนทั้งหมดจาก 148 โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ  

ส่วนจะมีโรงงานแห่งใดเข้าไปเกี่ยวข้องอีกบ้าง ในช่วงสายวันที่ 21 มิ.ย. 2561 คณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย เตรียมลงพื้นที่ตรวจค้นโรงงานหลายแห่งในพื้นที่ จ.ปทุมธานี อีกครั้ง ต้องรอติดตามผลกันต่อไป

รายชื่อโรงงานที่ได้รับใบอนุญาต 148 แห่ง มีดังนี้