‘กลุ่มรักษ์เชียงของ’ จี้รัฐออกหนังสือทางการ ยันยุติ ‘ระเบิดแก่งโขง’ หยุดทำลายระบบนิเวศ (27 มิ.ย. 61)

Green News TV 27 มิถุนายน 2561
‘กลุ่มรักษ์เชียงของ’ จี้รัฐออกหนังสือทางการ ยันยุติ ‘ระเบิดแก่งโขง’ หยุดทำลายระบบนิเวศ

“กลุ่มรักษ์เชียงของ” ทวงถามความชัดเจนการยุติโครงการสำรวจระเบิดเกาะแก่งในลุ่มน้ำโขง เพื่อความมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ปัดฝุ่นโครงการที่ถูกผลักดันจากรัฐบาลจีนขึ้นมาอีก

นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยผ่านสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ถึงความคืบหน้าการสำรวจการระเบิดเกาะแก่งภายใต้โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ว่า ขณะนี้กลุ่มรักษ์เชียงของซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวยังมีความคลุมเครือ จึงยังติดตามความคืบหน้าและคำแถลงอย่างเป็นทางการว่าขณะนี้รัฐบาลได้เห็นชอบให้ยุติโครงการสำรวจในครั้งนี้แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเพียงคำให้สัมภาษณ์ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่าทางการจีนได้ยุติการเดินหน้าโครงการนี้แล้ว

“อยากให้รัฐบาลแสดงความคืบหน้า มีหนังสือยุติโครงการที่ชัดเจน เพราะจะเป็นข้อยุติ และทำให้มั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกปลุกขึ้นมาอีก ซึ่งก็ไม่มีใครออกมาให้คำตอบ หรือสัญญาอะไร คงเป็นเพราะไม่อยากจะผูกมัดตัวเอง แต่ฝ่ายเราต้องการจะให้มีการออกมายืนยัน เพราะชาวบ้านคิดว่าการต่อสู้น่าจะยุติได้แล้ว น่าจะสรุปได้แล้วว่าโครงการไม่เหมาะไม่ควร” นายจีระศักดิ์ กล่าว

นายจีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้มีการยุติโครงการดังกล่าวไปครั้งหนึ่ง แต่กลับถูกผลักดันเข้ามาอีกครั้งช่วงต้นปี พ.ศ.2560 ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลจีนเข้ามาสำรวจการระเบิดเกาะแก่งลุ่มแม่น้ำโขง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้จีนเข้ามาศึกษาทางกายภาพ และการเจาะสำรวจชั้นหิน หลังจากนั้นเรือจีนก็เข้ามาศึกษา โดยมีกรมเจ้าท่าของไทยคอยติดตามการสำรวจ ภายใต้ความเป็นห่วงและวิตกกังวลของชาวบ้าน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการยังไม่มีความชัดเจน แต่ทราบข่าวว่าในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้จะมีการเสนอรายงานผลการศึกษาของบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้น จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัท CCCC Second Habor Consultant ของจีนมาดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ

“แม้สถานการณ์ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่คิดว่าการต่อสู้เรื่องระเบิดเกาะแก่งเบาลงกว่าเดิมมาก ดีขึ้นกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับการต่อสู้ครั้งแรก เพราะชาวบ้านมีความพร้อม มีข้อมูลในการต่อสู้ คนเชียงของไม่มีใครยอมให้เกิดโครงการนี้ขึ้น” นายนิวัฒน์ หรือครูตี๋ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 โดยขณะนั้นชาวบ้านและภาคประชาสังคม เห็นตรงกันว่า หากเกิดการระเบิดเกาะแก่งขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแม่ลุ่มน้ำโขง ระยะทาง 97 กิโลเมตร ตลอดริมฝั่ง 8 จังหวัดของไทยจะเกิดความเสียหาย กระทบต่อคนท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความมั่นคงทางด้านอธิปไตยและเขตแดน

“การระเบิดเกาะแก่งเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคนไม่เข้าใจ มองแค่การเอาหินผาออกไป เพื่อให้เดินเรือสะดวก แต่ในมุมมองของเราเห็นว่าเกาะแก่งมีประโยชน์สำหรับสิ่งมีชีวิต การรักษาสมดุลของแม่น้ำ รักษาความอุดมบูรณ์ ถ้าระเบิดออกไปเหมือนกับเอาอวัยวะของแม่น้ำออก วันหนึ่งหากจะฟื้นฟูแม่น้ำโขงก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการระเบิดเป็นเหมือนการฆ่าทันที เกาะแก่งคือหัวใจ คืออวัยวะของแม่น้ำโขง ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งถ้าคนมองไม่ใช่คนแม่น้ำโขงก็อาจจะไม่เข้าใจ” นายนิวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (MLC) ที่ประเทศจีน ว่า จากการพูดคุยเรื่องโครงการปรับปรุงร่องน้ำด้วยการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง จีนมีท่าทีสร้างสรรค์ หลังรับทราบว่าเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตของคนไทย จึงพร้อมจะเลิกโครงการหรือปรับเปลี่ยน ซึ่งช่วยคลายความกังวลแก่คนไทยได้มาก และถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยด้วย