"ถังขยะของโลก" (28 มิ.ย. 61)
แนวหน้าออนไลน์ 28 มิถุนายน 2561
แตกใบอ่อน: ถังขยะของโลก
ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากคนไทยจะได้เห็นภัยร้ายแรงของปัญหา“ขยะพลาสติก”แล้ว คงได้เห็นความน่ากลัวของ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่เป็นปัญหาบ่อนทำลายประเทศไทยมาหลายปี
แต่ 2 ปัญหานี้ค่อนข้างมีความต่างกันในแง่ของ “ที่มา”
เพราะอย่างแรกนั้นเกิดจากความมักง่าย ความไม่มีวินัยในการจัดการขยะของพวกเรากันเอง จนทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง จนทะลักไปสู่ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ซึ่งมันจัดการได้ไม่ยาก ถ้าคนไทยทุกคนให้ความร่วมมือ ร่วมใจ และมีวินัยในเรื่องการจัดการขยะและลดการใช้ถุงพลาสติกลง
ส่วนปัญหาขยะอิเล็กทรกนิกส์ ก็อย่างที่เราทราบกันตามข่าวที่ปรากฏออกมา นั่นคือ มันเกิดจากการกำหนดนโยบายและการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐของไทยเราเอง ที่อนุญาตให้นำเข้าขยะเหล่านี้จากต่างประเทศ ทั้งจากสหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ และอื่นๆ อีกหลายประเทศมาทิ้งในบ้านของเราเองปีละนับแสนตัน
เปรียบเสมือนประเทศไทยเป็น “ถังขยะของโลก” อย่างไรอย่างนั้น!
ขณะที่การจัดการปัญหา ผมไม่แน่ใจว่ามันจะง่ายหรือเปล่า เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า มันเกิดจากหลายปัจจัย ไล่มาตั้งแต่แต่การกำหนดนโยบาย มาจนถึงการปฏิบัติหน้าที่และการทุจริตของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐ โดยเฉพาะในการอนุญาตนำเข้าขยะ ซึ่งแต่ละอย่างถือเป็นเรื่องที่แก้ไขยากเสียยิ่งกว่ายาก
แม้ภายหลังจากเรื่องแดงขึ้นมา รัฐบาลจะออกท่าทีขึงขังประกาศมาตรการเร่งด่วน 3 ข้อ คือ 1.ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซิล 2.ผลักดันให้นำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในกรณีที่พบการสำแดงเท็จ พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และ 3.หากนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกแล้วส่งไปโรงงานกำจัดที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง พร้อมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย
พร้อมทั้งยังห้อยติ่งเอาไว้ว่า พร้อมที่จะงัดยาวิเศษ “ม.44” มาแก้ปัญหา หากใช้กฎหมายปกติไม่ได้!
ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมารับลูกอย่างทันควัน โดย “พสุ โลหารชุน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดสั่งการให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม ว่ามีประสิทธิภาพการดำเนินงานหรือไม่
โดยขีดเส้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค. 2561
มองเผินๆ ก็มองได้0ว่า เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ขมีขมันออกมารับลูกดำเนินการอย่างเร่งด่วน
แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน มันก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า แล้วที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมเคยดูแล ตรวจสอบ และจัดการโรงงานเหล่านี้บ้างหรือไม่ หรือออกใบอนุญาตให้แล้วก็แล้วกัน เพราะกระบวนการตรวจสอบติดตามที่ออกคำสั่งไปนั้น ความจริงมันคือ “โปรโตคอล” ที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว
แสดงว่าที่ผ่านมาไม่เคยทำกันเลยใช่หรือไม่? ถ้าใช่ ก็ไม่น่าแปลกใจหากวันใดวันหนึ่งข้างหน้าจะเกิดปัญหามลพิษขึ้นมาในบริเวณโดยรอบโรงงานเหล่านี้
แล้วนี่เรายังเหลือประเด็นการสืบสาวราวเรื่องเพื่อ “ไล่เบี้ย” จัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการพิจารณาคำขออนุญาตนำเข้า ส่งออก ขยะพิษเหล่านี้ว่ามีความเกี่ยวพันกับการทุจริตลักลอบนำเข้าหรือไม่ หรือเหตุใดจึงละเลยให้ขยะเหล่านี้หลุดรอดเข้ามาในประเทศได้อย่างหนักหน่วง
ที่สำคัญ ยังต้องอาจลามพูดไปถึงการทบทวนการออกกฎกระทรวงของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ที่เอื้อให้มีการนำขยะอันตรายเหล่านี้เข้ามาในประเทศอย่างมหาศาล จนกองเกลื่อนเป็นภูเขาเหมือนอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
ปัญหาแบบนี้จะล้างกันทั้งทีก็ต้องจัดการให้หมดจดสิ้นซากครับ อย่าทำเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่
อย่าลืมว่า เราสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกนะครับ ไม่ใช่ถังขยะของโลก
มะลิลา