วสท. จี้รัฐเร่งจัดการ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" (29 มิ.ย. 61)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 29 มิถุนายน 2561
วสท.จี้รัฐเร่งจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
วสท.ยื่นข้อเสนอแนะรัฐจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย จี้ทบทวนการนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ดันร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯให้มีผลบังคับใช้
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดแถลงข่าวเรื่องปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดย นายธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า จากข่าวการตรวจค้นโรงงานนำเข้าแปรรูปกำจัดขยะ-แยกขยะจำนวนกว่า 33 โรงทั่วประเทศกว่า 20 จังหวัด พบมีการขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งจาก 35 ประเทศทะลักเข้าไทยกว่า 8 แสนตัน ผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิต ห่วงโซ่อาหาร แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หลังจากประเทศจีนลงนามให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติช่วงปลายปี 2560 ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้กลุ่มเอกชนชาวจีนที่ทำธุรกิจเหล่านี้ในประเทศ เบนเข็มมาดำเนินการที่ประเทศไทยแทนทั้งตั้งบริษัทเองหรือให้คนไทยเป็น “นอมินี” หรือแม้แต่ซื้อโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตต่อจากคนไทย โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมสถิติสะสมจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตในปี 2559 โรงงานประเภทลำดับที่ 105 จำนวน 18 แห่ง โรงงานประเภทลำดับที่ 106 จำนวน 31 แห่ง แต่ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 88 แห่ง และ 111 แห่ง
ขณะที่ปัญหากรวมทั้งปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการใช้ภายในประเทศ ที่ประเทศไทยยังขาดการจัดการ รวบรวมและกำจัดที่ดี ซึ่งการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม อาทิ การเผาสายไฟเพื่อนำทองแดงไปขายทำให้เกิดไอระเหยของพลาสติกและโลหะบางส่วนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง การเผาแผงวงจรเพื่อหลอมตะกั่วและทองแดงทำให้เกิดไอตะกั่วแพร่กระจายสู่อากาศ รวมทั้งสะสมในดินและน้ำ การใช้กรดสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจร โดยไม่มีกระบวนการบำบัดน้ำเสียทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำเสียลงสู่ดินและแหล่งน้ำ การรื้อ/แกะตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ โดยไม่มีอุปกรณ์ดูดเก็บสารทำความเย็นทำให้สารทำความเย็นหลุดออกสู่บรรยากาศและทำลายชั้นโอโซน ดังนั้น การปนเปื้อนมลพิษจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเริ่มจากเส้นทางของผู้ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปถึงผู้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ และสุดท้ายไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายธเรศ ศรีสถิตย์ คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วสท. กล่าวว่า ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการจัดการของเสียจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ไว้ 10 กลุ่ม ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า 2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดเล็ก เครื่องดูดฝุ่น เตารีด 3.อุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เครื่องสแกนภาพ โทรศัพท์มือถือ 4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค วิทยุ โทรทัศน์ กล้องและเครื่องบันทึกวีดีโอ เครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้า 5. อุปกรณ์ให้แสงสว่าง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 6.อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ 7. เครื่องมือวัดหรือควบคุมต่างๆ เครื่องจับควัน, เครื่องควบคุมอุณหภูมิ 8. ของเล่น เกมส์บอย ของเล่นที่ใช้ไฟฟ้า 9. เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สว่าน เลื่อยไฟฟ้า และ10.เครื่องจำหน่ายสินค้า/เครื่องดื่มอัตโนมัติ
ขณะที่ประเทศไทยใน ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ..กำหนดดังนี้ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและจะทยอยประกาศออกมาตามความเหมาะสมของการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ แนวทางในการจัดการกับโรงงานแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาเปิดและลักลอบนำเข้ามีกว่า 148 โรง ควรดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดพร้อมกับการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพราะโรงงานที่พบนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เปิดโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการสำแดงเท็จ ซึ่งตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซล ถือว่าเป็นอาชญากรรม ส่วนโรงงานที่มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกหลักวิชาการยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ วสท. มีข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานและรัฐบาลในการจัดการขยะอิเล็กรอนิกส์ ดังนี้ ระยะสั้น 1. ระงับการนำเข้าซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซลทั้งหมด ที่รวมไปถึงกลุ่มสำแดงเท็จ 2) ทบทวนความพร้อมการรองรับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซลที่มีอยู่ในประเทศและผลการดำเนินการของผู้ประกอบการ 3.ทบทวนความจำเป็นในการนำขยะเศษพลาสติกเข้าประเทศ หากไม่จำเป็นขอให้ยกเลิกการนำเข้าเพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ 4. ตรวจสอบโรงงานที่นำซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาคัดแยกและสภาพประสิทธิภาพทุกโรงงานรวมทั้งกลุ่มโรงงานที่มีการนำเข้าขยะประเภทอื่นๆ จากต่างประเทศ 5. ติดตามตรวจสอบการคัดแยกของประชาชนที่มีมากในอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์และตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ควบคุมการคัดแยกและทิ้งของเสียออกสู่สาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม 6. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งรอบโรงงานที่มีการคัดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่มีถูกต้องและทิ้งของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม 7. เร่งรัดร่างพ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ส่วนระยะยาว 1.ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ควรมีส่วนร่วมเป็นผู้รวบรวมและจัดเก็บขยะ/ซากอิเล็กทรอนิกส์ 2) สนับสนุนให้สร้างโรงงานคัดแยกและกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดตั้งเป็น “เขตอุตสาหกรรมการคัดแยก นำกลับมาใช้ใหม่ของขยะหรือซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงและไม่เกิดความขัดแย้ง