อุตฯลงพท.กำกับการตรวจสอบโรงงานคัดแยกขยะจ.อยุธยา (30 มิ.ย. 61)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 30 มิถุนายน 2561
อุตฯลงพท.กำกับการตรวจสอบโรงงานคัดแยกขยะจ.อยุธยา

ก.อุตสาหกรรมลงพื้นที่ตรวจกำกับการตรวจสอบโรงงานคัดแยกขยะจ.อยุธยา

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (30 มิ.ย.2561) คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ตรวจกำกับการตรวจสอบโรงงานคัดแยกขยะของบริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (สาขาอยุธยา) จังหวัดอยุธยา เป็นโรงงานที่ดำเนินธุรกิจคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย อัดและตัดเศษโลหะ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินงานของโรงงาน และเป็นการกำกับดูแลตามกฎหมาย ให้มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโรงงานฮีดากาโยโกมีกำลังการผลิต 4,719 แรงม้า คนงาน จำนวน 81 คน ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ได้รับวัตถุดิบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โดยประมาณปีละ 72,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบทั้งเศษเหล็ก/เศษโลหะ ไม้/ กระดาษ และพลาสติก จากภายในประเทศเกือบ 100 % และเมื่อแปรรูปวัตถุดิบแล้วส่วนใหญ่จะส่งจำหน่ายไปยังโรงหลอมเหล็กภายในประเทศ ส่วนที่เหลือส่งออกต่างประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และอนุสัญญาบาเซล หากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจ ทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรม ที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโรงงานการคัดแยก ฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และประเภทโรงงานผลิตวัสดุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (โรงงานลำดับที่ 106) โดยให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด

โดยมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเข้าตรวจสอบโรงงาน พร้อมต้องให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับการตรวจสอบโรงงานคัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกทั่วประเทศ จำนวน 2,420 โรงงาน ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 1,066 โรงงาน ซึ่งได้สั่งการตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ให้โรงงานปรับปรุงและแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 179 โรงงาน และได้สั่งการให้หยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา39 จำนวน 7 โรงงาน

"อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าผมและคณะจะลงพื้นที่ตรวจกำกับโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยยืนยันหากพบโรงงานกระทำความผิดและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 พร้อมที่จะใช้กฎหมายสั่งการให้เป็นไปตามกฎหมายทันที " นายพสุฯ กล่าวทิ้งท้าย