เปิดปูมกรณีการนำเข้า “ขยะพิษ” ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหา หวั่น 7 จังหวัดไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะ (22 มิ.ย. 61)

Citizen Thai PBS 22 มิถุนายน 2561
เปิดปูมกรณีการนำเข้า “ขยะพิษ” ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหา หวั่น 7 จังหวัดไทยกลายเป็นแหล่งรองรับขยะ


ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์

21 มิ.ย.2561 มูลนิธิบูรณะนิเวศ (earth) ร่วมกับประชาชนผู้เดือดร้อน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาครเพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี จัดแถลงข่าวปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษมายังประเทศไทย ณ ห้องประชุมห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ชี้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ รวมทั้งสุขภาวะ และความมั่นคงทางสังคมของประชาชนในพื้นที่

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (earth) กล่าวว่า กรณีที่ พล.ต.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกตรวจค้นและแจ้งข้อหาบริษัทผู้ประกอบกิจการคัดแยกและแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้สังคมไทยตื่นตัวถึงสถานการณ์ขยะพิษในประเทศไทย

“ประเทศไทยเปิดเสรีแล้ว เปิดเสรีให้กับการนำเข้าของเสียทุกประเภท ซึ่งจะสามารถนำเข้าทุกประเภท อันตราย ไม่อันตราย อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ขยะเคมี กัมมันตภาพรังสี ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะ ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล ทุกประเภทได้โดยเสรี” เพ็ญโฉม กล่าว

เพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ทำการศึกษาวิจัยและติดตามปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมและขยะอันตรายอย่างต่อเนื่องหลายปีพบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าของเสียจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก ขยะเคมี และขยะอันตรายอื่น ๆ จำนวนมาก พร้อมกับเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจกรรมบางประเภท ส่งผลทำให้จำนวนโรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับการกำจัด คัดแยก และจัดการขยะทั้งอันตรายและไม่อันตรายเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลสถิติสะสมจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ จำนวนตามประเภท, กลุ่มสถิติและเผยแพร่สารสนเทศอุตสาหกรรม, ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2557 – 2561 มีโรงงานลำดับที่ 105 สำหรับกิจการคัดแยกและฝังกลบ เพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 63 และโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสีย จาก 43 เป็น 52 ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก จนถึงภาคตะวันตก (พื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี) ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนักในการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งขยะอันตรายและไม่อันตราย

“มีขยะจาก 35 ประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย โดยเป็นขยะพลาสติกปริมาณ 58 ตัน จากปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บังคลาเทศ และประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็นถังขยะของนานาชาติหรือ?” เพ็ญโฉม ให้ความเห็น

จอร เนาวโอภาส จากเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงงานฝังกลบขยะมานานกว่า 10 ปี ทั้งเรื่องของกลิ่น ฝุ่นละออง น้ำเสีย จนล่าสุดคือปัญหาเรื่องของขยะอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทในพื้นที่เป็นกิจการประเภท 105 และ 106 ที่รับขยะไปจัดการคัดแยก รีไซเคิล บำบัด หรือบดย่อยเศษที่มันคัดแยกเสร็จแล้ว ชาวบ้านกังวลว่าอาจจะมีการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝังกลบปนอยู่ในบ่อขยะด้วย

สำออย ประกอบสุข ชาวบ้านในชุมชนหนองพวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ถึงผลกระทบที่ได้รับจากการที่โรงงานกำจัดขยะเข้าไปตั้งอยู่ใกล้ชุมชนว่า ตอนนี้ที่หนองพวาได้รับความเดือดร้อน ตอนเช้ามืดจะมีควันฟุ้งออกมาจากโรงงาน เมื่อเข้าจมูกทำให้หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร นอกจากนั้นล่าสุดยังพบปัญหามีน้ำเสียซึมออกนอกโรงงานส่งผลกระทบกับพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน จนถูกสั่งหยุดดำเนินกิจการเพื่อแก้ปัญหา

“ถ้าน้ำท่วมแล้วสารตรงนี้กระจายไปที่ไหน หญ้าก็ตาย ชาวบ้านลงไปถ้ามีแผลเชื่อเลยว่าขาขาด เพราะหน่วยที่เขาดูแลเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาไปตรวจวัด เข็มเครื่องตรวจวัดมันตีกลับเลย มันเป็นสารที่แรงมาก ทุกหน่วยงานที่ตรวจสอบก็บอกว่าร้ายแรงมาก ตอนนี้ชาวบ้านต้องช่วยกันบอกว่าห้ามลงหาปลา พอมันท่วมแล้วเจอสารนี้ สวนยางประมาณ 10 ไร่ก็ไม่เหลือเลย ชาวบ้านก็ทำนาไม่ได้” สำออยกล่าวถึงผลกระทบ

นิวัช ชัชวาลย์ กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ อ.เมือง จ.ราชบุรี เล่าว่า ชาวบ้านเดือดร้อนที่สุดในตอนนี้คือเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร กับกลิ่นเหม็นที่สร้างความรำคาญ และได้มีหนังสือเตือนจากกรมควบคุมมลพิษแล้วว่า ห้ามใช้น้ำ ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านลำบากมากในการหาน้ำจากที่อื่นมาใช้

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ การฟื้นฟูแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมาแสดงตนว่าจะมาฟื้นฟู หรือรับผิดชอบ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการฟ้องศาล และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว แต่ทุกวันนี้บริษัทก็ยังลักลอบการดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งเราก็ตรวจสอบพบอยู่ ถามต่อกับไปยังหน่วยงานว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้ชาวบ้านพ้นจากความเดือดร้อนได้” นิวัชให้ความเห็น

ผัลย์ศุภา แดงประดับ ชาวบ้าน ต.หนองชุมพลเหนือ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า พื้นที่ของเรายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานเพราะกำลังจะก่อสร้าง เขาได้ไปขอใบอนุญาติ 106 กับ 60 คือการหลอมขยะอิเล็กทรอนิกส์ พอเราไปตามเรื่องก็รู้ว่าเป็นการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเยอะมาก เราจึงคัดค้านทำให้ชะลอตรงนี้ไป สุดท้ายเขาก็ไปขอใบอนุญาต 105 (กิจการคัดแยกและฝังกลบ) เราก็ยื่นหนังสือคัดค้านในจังหวัด ที่อธิบดีกรมโรงงาน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม สุดท้ายเขาก็ออกใบอนุญาต 105 ให้ 2 โรงงาน

“พอรู้ว่ามีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเราก็กังวลว่าความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นกับหมู่บ้านเรา เพราะหมู่บ้านเราเป็นแหล่งต้นน้ำด้วย เรื่องของเรื่องคือโรงงานตั้งอยู่เหนือหมู่บ้าน เป็นแหล่งต้นน้ำ อยู่ติดกับหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร” ผัลย์ศุภากล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอของกลุ่มประชาชนคือ 1.ขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

เนื่องจากคำสั่งดั่งกล่าวทำให้โรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับกำจัด คัดแยก และจัดการขยะทั้งอันตรายและไม่อันตราย ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 101 สำหรับการบำบัดของเสียรวม โรงงานลำดับที่ 105 สำหรับคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสียรวม รวมถึงโรงงานลำดับที่ 88 สำหรับกิจการผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ สามารถตั้งในพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งเคยได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายผังเมืองรวม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของพื้นที่เหล่านี้ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแหล่งน้ำใต้ดิน ที่หากปนเปื้อนสารอันตราย จากกิจการเหล่านี้แล้วจะไม่อาจฟื้นฟูกลับคืนมาได้

2.ให้เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอยหรือวัสดุใช้แล้ว 4 ประเภท ได้แก่ ขยะพลาสติก ตะกรันวาเนเลียม ขยะกระดาศที่ไม่จัดประเภท และขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิด เหมือนที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศจีนทำ เมื่อจีนห้ามได้ ทำไมไทยจะห้ามไม่ได้

3.ให้มีการสอบสวนความถูกต้องของใบอนุญาตินำเข้าและใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105, 106 และโรงงานเกี่ยวกับการรีไซเคิลของเสียว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงสอบสวนและดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบด้วย

ส่วนมาตรการระยะยาว มีข้อเสนอคือ 1.ขอให้ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กฎกระทรวง ที่เอื้อเอื้อต่อประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 โดยได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการกำกับดูแลต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาแยกประเภทโครงการบางอย่างออกจากกัน

2. ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. … ฉบับที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตั้งโรงงานและรวบรัดขั้นตอนการอนุญาตต่าง ๆ ให้รวดเร็ว จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว และประการสำคัญคือจะต้องมีการแยกอำนาจการกำกับเรื่องการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและมลพิษกับการส่งเสริมการสร้างโรงงานออกจากกัน พูดง่าย ๆ คือต้องมีการรื้อโครงสร้างของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไม่ใช้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

3. ทบทวนและปรับปรุงแก้ไขการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยทำไว้กับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่าง ๆ เพื่อห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอันตราย

จากนั้นในช่วงบ่าย กลุ่มประชาชนราว 50 คน ได้เดินทางไปยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิด ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องแก้ปมปัญหาขยะพิษ ผ่านนายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นร่วมพูดคุยกับนายประกอบ วิวิธจินดา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หลังทางศูนย์รับเรื่องฯ จัดห้องพูดคุยรับฟังปัญหาโดยให้ตัวแทนที่มายื่นหนังสือ 15 คน นำเสนอข้อมูล


ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์


ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์


ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์


ภาพ : กานต์ ทัศนภักดิ์