ไทยคือถังขยะโลก! จี้รบ.ออกมาตรการห้ามนำเข้าของเสียต่างแดน (21 มิ.ย. 61)
แนวหน้าออนไลน์ 21 มิถุนายน 2561
ไทยคือถังขยะโลก! จี้รบ.ออกมาตรการห้ามนำเข้าของเสียต่างแดน
21 มิ.ย.61 น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในงานแถลงข่าว “เปิดปูมกรณีการนำเข้าขยะพิษ” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบันไทยกลายเป็นแหล่งรับขยะจากหลายประเทศทั่วโลก ด้วยผลของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยไปทำไว้กับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย อาทิ ในปี 2560 สิ่งของประเภทเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39.15) ไทยรับจากญี่ปุ่นถึง 1.5 แสนตัน
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของประเภทเศษและของที่ใช้ไม่ได้ ของเซลปฐมภูมิ แบตเตอรี่ปฐมภูมิและหม้อสะสมไฟฟ้า เซลปฐมภูมิที่ใช้แล้ว แบตเตอรี่ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว และหม้อสะสมไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งส่วนประกอบทางไฟฟ้าของเครื่องจักรหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้ระบุ หรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้ (พิกัดศุลกากร 85.48) ในปี 2560 ไทยรับมาจากจีนถึง 2.8 พันตัน
น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวต่อไปว่า ในอดีตขยะจากประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่ประเทศจีน อาทิ อังกฤษเคยส่งขยะพลาสติกไปจีนถึง 2.7 ล้านตัน ระหว่างปี 2555-2560 เช่นเดียวกับขยะพลาสติกคัดแยกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ถูกส่งไปจีนถึงร้อยละ 85 กระทั่งเมื่อ 18 ก.ค. 2560 รัฐบาลจีนออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะ 4 ประเภท คือ 1.ขยะพลาสติก 2.ตระกรันวาเนเดียม 3.ขยะกระดาษที่ไม่จัดประเภท และ 4.ขยะสิ่งทอบางชนิด โดยมีผลบังคับใช้ในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน ดังนั้นเส้นทางของขยะจึงเปลี่ยนจากจีนมายังไทย
“วันที่ได้ไปสังเกตการณ์การตรวจค้นของท่าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา พลาสติก 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 57 ตัน มาจาก 35 ประเทศ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็ส่งขยะมาที่บ้านเรา มันจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าตกลงประเทศไทยจะเป็นถังขยะให้นานาชาติหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของประเทศด้วย เป็นเรื่องของความยั่งยืน ความผาสุกของคนไทย” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอมาตรการเร่งด่วนว่า 1.ต้องยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เนื่องจากพบว่าในปี 2560 มีโรงงานกำจัดขยะประเภท 105 และ 106 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 อย่างมาก โดยโรงงานประเภท 105 ในปี 2560 ตั้งใหม่จำนวน 88 โรง มากกว่าปี 2559 ที่ตั้งใหม่เพียง 18 โรง ส่วนโรงงานประเภท 106 ในปี 2560 ตั้งใหม่จำนวน 111โรง มากกว่าปี 2559 ที่ตั้งใหม่เพียง 31 โรง เพราะคำสั่งดังกล่าวทำให้ตั้งโรงงานได้ง่ายขึ้น
2.ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะ 4 ประเภท เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนทำ 3.ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของโรงงานกำจัดของเสียประเภท 105 และ 106 ทั่วประเทศ เพราะมีบทเรียนจากประเทศจีน เมื่อภาครัฐมีมาตรการคุมเข้มมีการตรวจสอบก็พบว่ามีโรงงานรับกำจัดขยะในจีนจำนวนมากทำผิดกฎหมาย และเชื่อว่าผู้ประกอบการจีนไม่น้อยน่าจะย้ายมาลงทุนในประเทศไทย ขณะนี้กำลังติดตามว่ามีที่ไหนบ้าง พร้อมกับย้ำว่าเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจออกใบอนุญาตตั้งโรงงานและอนุญาตให้นำเข้า
“เราเคยพบบริษัทเดียวมีใบอนุญาตถึง 16 ใบ ของกรมโรงงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราอยากรู้ว่ามันมีความไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์กับข้าราชการที่ออกใบอนุญาตเหล่านี้ไหม ในเมื่อรัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญกับเรื่องทุจริตเรื่องความโปร่งใส ก็ต้องสอบสวนข้าราชการในหน่วยงานนี้ ว่าในการออกใบอนุญาตมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญเพราะถ้าจัดการไม่ได้มันจะเป็นปัญหาเรื้อรังไปอีกนานมาก”