นายเหมืองเปิดเกมรุกยื่นข้อเสนอรมว.เกษตรฯเปิดพื้นที่ส.ป.ก.ทำเหมือง (31 พ.ค. 61)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 31 พฤษภาคม 2561
นายเหมืองเปิดเกมรุกยื่นข้อเสนอรมว.เกษตรฯเปิดพื้นที่ส.ป.ก.ทำเหมือง
นายเหมืองเปิดเกมรุก ยื่นข้อเสนอรมว.เกษตรฯเปิดพื้นที่ส.ป.ก.เพื่อการทำเหมือง แจงบทบาทอุตสาหกรรมต้นน้ำสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจปีละ 4 ล้านล้านบาท ได้รับการบรรจุในยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 แต่นโยบายสาธารณะกลับขัดแย้ง ชงแก้ไขคำสั่ง คสช.31/2560 รวมถึงพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน
ภายหลังจากการรวมพลังจัดเวทีสัมมนา “สัญญาณเตือน..เมกะโปรเจ็กต์ไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง” เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2561 เพื่อให้รัฐบาลรับรู้ถึงผลกระทบจากด้านลบจากนโยบายบริหารจัดการที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)แล้ว แหล่งข่าวจากสภาการเหมืองแร่เปิดเผยว่า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ได้นำเสนอรายงาน “ข้อพิจารณาผลลัพธ์เชิงบวกจากการใช้พื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ในด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่” ที่จัดทำโดย ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา ประธานชมรมสินแร่อุตสาหกรรมและวัสดุก่อสร้าง ต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาปรับปรุงนโยบาย ส.ป.ก.ต่อธุรกิจเหมืองแร่
สาระสำคัญของรายงานดังกล่าวสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศถึง 88 สาขา มูลค่าการผลิตแร่โดยรวมมากกว่าปีละ 6.5หมื่นล้านบาท แต่ประเมินว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 4 ล้านล้านบาท เหมืองแร่จึงถูกจัดอยูในกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
“การกำหนดนโยบายไม่อนุญาตใช้ที่ดินส.ป.ก. ในกิจการเหมืองแร่ จะทำให้ลดแหล่งวัตถุดิบสินแร่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ ทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และยังขัดแย้งต่อการพัฒนายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)”
ส่วนหนึ่งที่ระบุในรายงาน พร้อมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ 3 ประเด็นสำคัญ
1.เสนอขอแก้ไขคำสั่งคสช. ที่ 31/2560 โดยเพิ่มเติมสิทธิเเก่ผู้ประกอบกิจการเหมืองเเร่ให้เท่าเทียมกับผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียม เเละเเก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเเละระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.)ให้สอดคล้องกันด้วย
2.ขอให้แก้ไขพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามคำสั่งคสช. ข้อ8. โดยให้ครอบคลุมถึงกิจการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่ตามพ.ร.บ. แร่ฯให้มีความสอดคล้องกันเพื่อประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจของชาติโดยรวมจากการใช้พื้นที่ส.ป.ก. หรือแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเติมการขอประทานบัตรและอาญาบัตรที่กำลังยื่นเรื่องในการพิจารณาต่อ ส.ป.ก.
3.พิจารณาอนุญาตยินยอมให้ใช้พื้นที่ส.ป.ก.นำทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายอื่น พ.ศ.2541 ก่อนวันที่คำสั่งคสช.ที่ 31/2560 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยปฏิรูปที่ดินตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ในกรณีประทานบัตรหมดอายุจากการอนุญาตของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่ยังมีปริมาณแร่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ดังนั้นควรอนุญาตให้ใช้พื้นที่ส.ป.ก.ต่อไปอีก 5-10 ปี เพื่อขอประทานบัตรต่ออายุจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
ในรายงานดังกล่าวยังเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพิจารณาแก้ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่ได้ดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรและการใช้พื้นที่กับส.ป.ก. ที่ยังค้างอยู่กับส.ป.ก. โดยได้ผ่านการกลั่นกรองของอนุกรรมการส.ป.ก. มาแล้วส่วนหนึ่งที่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมคปก. แล้วจำนวน 13 บริษัท ซึ่งมีทั้งแร่หิน แร่เหล็ก แร่ยิปซั่ม ฯลฯ
สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วประเทศ ประสบปัญหาจากการที่ไม่สามารถขอรับอาชญาบัตรสำรวจแร่และประทานบัตรการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ ที่มีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อน แต่คำสั่งดังกล่าวถูกตีความว่าให้เฉพาะผู้ได้รับความยินยอมให้ใช้ที่ดิน เพื่อการสำรวจแร่ การทำเหมือง หรือการทำเหมืองใต้ดินตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ก่อนวันที่คำสั่งใช้บังคับ คือวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2560 เท่านั้น
ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา