เยือนโรงงานกำจัดขยะเอาของเสียอิเล็กทรอนิกส์ไปทำอะไร? (2 มิ.ย. 61)

MGR Online 2 มิถุนายน 2561
เยือนโรงงานกำจัดขยะเอาของเสียอิเล็กทรอนิกส์ไปทำอะไร? 


อุดร สุขีลาภ

มีการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่งที่ตัวละครของเรื่องสามารถเปลี่ยนของจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่นตัวเอกที่สามารถเปลี่ยนขยะเป็นต้นไม้ได้ เด็กๆที่ติดตามการ์ตูนเรื่องนี้ก็ต่างพากันอยากมีพลังแบบในการ์ตูนบ้าง แต่ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์คงมีแต่เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะทำแบบนั้นได้

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่พร้อมคณะจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเยี่ยมชมโรงงานรับกำจัด บำบัดและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ของ บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด จ.อยุธยา ซึ่งได้รับใบอนุญาติประกอบกิจการโรงงานประเภท 105 สำหรับประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และประเภท 106 สำหรับประกอบกิจการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม 

โรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่จังหวัดอยุธยาแห่งนี้ รับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ภายในประเทศไทยโดยเฉพาะรอบๆ นิคมอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ฟิล์มเอ็กซเรย์ โดยการประมูลแข่งกับโรงงานรับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โรงงานอื่นๆ 

เมื่อบริษัทผู้ผลิตขยะ แจ้งมาที่โรงงานรับกำจัด บำบัดขยะ ทางผู้รับกำจัด บำบัดจะจ้างบริษัทขนส่งขยะที่ได้รับใบอนุญาติขนส่งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและมีใบครอบครองของเสียเพื่อการขนส่ง วอ. 8 ในระหว่างการขนส่ง และทั้งผู้ขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผู้รับบำบัด กำจัด รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการส่งใบกำกับการส่ง (Menifest) 

อุดร สุขีลาภ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) เล่าว่าเมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์มาถึงบริษัท มัตซึดะ จะถูกตรวจสอบเพื่อดูว่า ตรงกับข้อมูลในใบกำกับการขนส่งหรือไม่ จากนั้นนำไปเก็บที่โรงเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ และถูกทยอยมาบดด้วยรถบดย่อยขยะ (รถ mobile) เพื่อทำให้ขยะมีขนาดเล็กลง ขยะที่ถูกบดจะถูกส่งไปยังโรงเผาขยะและเผาที่อุณหภูมิประมาน 500-700 องศาเซลเซียส จนขยะที่ไม่ใช่โลหะมีค่าละลาย และระเหยกลายเป็นไอ ไอนั้นจะเข้าไปในส่วนที่เป็นเตาเผาแก๊สที่มีอุณหภูมิ 830 องศาเซลเซียส และถูกดูดเข้าไปยังระบบหล่อเย็น ผ่านต่อไปยังแก็สฟิวเตอร์ และระบบสครับเบอร์ (Scrubber) เพื่อบำบัดอากาศตามลำดับ ส่วนที่เป็นโลหะมีค่าอย่างทองคำ ทองคำขาว พาราเดียม และเงิน จะออกมาพร้อมกับเถ้า (Ash) ซึ่งเถ้าจะถูกนำไปผสมกับไซยาไนด์เพื่อทำละลาย 

“สารละลายนั้นจะถูกส่งไปยังโรงสกัดโลหะมีค่า ด้วยกระบวนการการแยกโลหะแต่ละชนิด ออกจากสารละลายด้วยวิธีการทางไฟฟ้าเคมี ด้วยการปล่อยประจุให้โลหะมีค่ามาเกาะอยู่ที่แกน แกนที่มีโลหะมีค่าแต่ละชนิดเคลือบอยู่จะถูกนำไปทำละลายโลหะมีค่าที่เกาะอยู่ด้วยสารละลายกรด แล้วนำสารละลายเข้ากระบวนการทำให้สารละลายมีความเข้มข้นเพื่อให้โลหะมีค่าตกตะกอน ตะกอนเหล่านั้นจะถูกแยกออกมาจากสารละลายด้วยกระดาษกรอง ส่วนของน้ำเสียที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์และสารละลายกรดจะถูกบำบัดด้วยวิธีการทางเคมีและปล่อยสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของทางนิคมอุตสาหกรรม” 

อุดรบอกอีกว่าโลหะที่ออกมานั้นจะมีความบริสุทธิ์ประมาณ 99.9 % แต่ถ้าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต้องเป็นโลหะมีค่าที่มีความบริสุทธิ์ 99.99% ดังนั้นทางโรงงานจึงต้องส่งโลหะมีค่าเหล่านี้ ไปยังบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นผ่านทางเครื่องบิน เพื่อทำให้โลหะมีค่าให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น โลหะมีค่าที่ผ่านการทำให้มีความบริสุทธิ์สูงด้วยเทคโนโลยีของทางญี่ปุ่น ทางโรงงานที่ญี่ปุ่นจะนำโลหะมีค่าเหล่านี้ ไปเป็นวัตถุในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจร ซึ่งเป็นการลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากการระเบิดภูเขาหรือทำเหมืองเพื่อเอาแร่มาทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยปริมาณของเสียอิเล็กทรอนิกส์ต่อปริมาณของโลหะมีค่าเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับประเภทของขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่องจะมีโลหะมีค่าเป็นน้ำหนักรวมประมาณ 10 ppm (part per million)


โรงงานสกัดโลหะมีค่า


รถบดขยะ


โกดังเก็บขยะ


โรงเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์