การแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติก: เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2018 (3 มิ.ย. 61)
Green News TV 3 มิถุนายน 2561
การแก้ปัญหาวิกฤตพลาสติก: เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2018
…อาบาน มาร์เคอร์ คาบราจิ
ผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ภูมิภาคเอเชีย
ในทุกๆ ปี ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 300 ล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งคือ “พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” เช่น ถุงพลาสติกจากการซื้อของ แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก
ขยะพลาสติกสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร ซึ่งกว่า 80% ของขยะพลาสติกในทะเลมาจากขยะบนบก
นับว่าเป็นภัยคุกคามต่อสภาพของทะเล ความมั่นคงทางอาหาร ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และการท่องเที่ยวชายฝั่ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขยะกว่า 8 ล้านตันไหลลงสู่ทะเลทุกๆ ปี (เทียบเท่ากับขยะ 1 รถบรรทุกต่อนาที) คาดการณ์ว่าจำนวนขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในภูมิภาคเอเชีย มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งอย่างหนาแน่น บวกกับการขาดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาขยะอยู่ในภาวะวิกฤต
ในปี 2558 มีรายงานว่า ประเทศจีน อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย เป็น 6 อันดับสูงสุดของประเทศที่ก่อให้เกิดขยะทะเล ซึ่งคิดเป็น 60% ของมลพิษจากขยะพลาสติกในทะเล
อีกหนึ่งงานวิจัยได้รายงานว่า ขยะที่ไหลมาตามแม่น้ำ 10 สาย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนขยะพลาสติกทะเลทั่วโลก และพบว่าจากแม่น้ำทั้ง 10 สายนั้นเป็นแม่น้ำในภูมิภาคเอเชียถึง 8 สาย
เมื่อมองในภาพรวมจะพบว่า มลพิษขยะพลาสติกทางทะเลเป็นปัญหาขั้นวิกฤตที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างเร่งด่วน จากรูปแบบ “take-make-dispose” หรือ “เอา-ผลิต-ทิ้ง” แบบเส้นตรงในปัจจุบัน ให้เป็นระบบหมุนเวียนในเศรษฐกิจของพลาสติก
ภาครัฐควรพิจารณาถึงการนำกรอบนโยบายที่ครอบคลุมไปใช้ในการเก็บและบำบัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการให้แรงจูงใจในการรีไซเคิล
ภาคธุรกิจควรได้รับแรงจูงใจในการดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อลดหรือกำจัดขยะพลาสติก และการรั่วไหลในห่วงโซ่อุปทาน
ท้ายที่สุดคือการจัดการที่ใจกลางของปัญหา นั่นคือพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้พลาสติกจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
แนวคิดหลักของวันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้คือ “เอาชนะมลพิษจากพลาสติก” หรือ “Beat Plastic Pollution” แม้ว่าปัญหาพลาสติกเป็นจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากได้ร่วมมือกันทั้งเรื่องงานวิจัย งานศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่เข้มแข็ง และความพยายามจากหลายภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย และจะสามารถบรรลุภารกิจที่สำคัญนี้ได้