เร่งขุดลอกตะกอนต้นเหตุน้ำดำไหลลงทะเลหาดกะรน ทำระบบดักฯ แก้ปัญหาระยะยาว (2 พ.ค. 61)
MGR Online 2 พฤษภาคม 2561
เร่งขุดลอกตะกอนต้นเหตุน้ำดำไหลลงทะเลหาดกะรน ทำระบบดักฯ แก้ปัญหาระยะยาว
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลตำบลกะรน จ.ภูเก็ต เร่งขุดลอกตะกอนในคลองบางลา ต้นเหตุน้ำเสียสีดำไหลลงทะเลดังไปทั่วโลก พร้อมทำระบบดักตะกอน หรือเวสแลนด์ ดักไม่ให้ตะกอนไหลลงทะเล มั่นใจไม่มีลักลอบปล่อยน้ำเสีย เตรียมขยายบ่อบำบัดเพิ่มด้วยงบ 54 ล้านบาท แต่หาผู้รับเหมาไม่ได้ วางแผนระยะยาวของบกองทุนสิ่งแวดล้อม 275 ล้าน ทำเฟส 2 รองรับได้ถึง 20 ปี ขณะที่วันนี้ไม่มีน้ำดำไหลลงทะเลแล้วจากน้ำในคลองแห้งขอด
จากกรณีที่มีการแชร์ภาพน้ำเสียสีดำไหลลงสู่ทะเล ที่หาดกะรน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในสื่อโซเชียลเมื่อวานที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลกเป็นอย่างมาก ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (2 พ.ค.) นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน นายวันชัย แซ่ตัน ผอ.กองช่าง นายฉัตรพร เจริญเวช หัวหน้างานบ่อบำบัดน้ำเสียเทศบาลตำบลกะรน และ ดร.วิภาวี ดำมี จากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาน้ำเสียสีดำไหลลงสู่ทะเล และร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา
จากการลงพื้นที่ในวันนี้พบว่า น้ำเสียสีดำที่ไหลลงทะเลเมื่อวานนี้ ในช่วงเช้าวันนี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากสภาพน้ำในคลองบางลา ซึ่งเป็นคลองที่รองรับน้ำจากชุมชนกะรน ยาวประมาณ 800 เมตร ตั้งแต่ต้นคลองไปจนถึงปลายคลองที่ไหลลงสู่ทะเล อยู่ในสภาพที่แห้งขอด มีน้ำขังในคลองน้อยมาก จะมีบ้างเล็กน้อยที่จุดใกล้กับหาด แต่สภาพน้ำที่ไหลลงหาดไม่ได้มีสีดำเหมือนเมื่อวานนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา และในช่วงเช้าวันนี้ไม่ได้มีฝนตกลงมา
ในขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลกะรน ได้นำรถแบ็กโฮเข้าไปขุดลอกตะกอนในคลองบางลาแล้ว โดยได้เริ่มขุดลอกตั้งแต่บริเวณจุดรวบรวมน้ำเสีย และจะทยอยขุดลอกตลอดทั้งลำคลอง ระยะทางประมาณ 800 เมตร และบริเวณชายหาดมีนักท่องเที่ยวลงมาเล่นน้ำตามปกติ
นายทวี ทองแช่ม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำเสียสีดำที่ไหลลงทะเลที่หาดกะรนเมื่อวานที่ผ่านมา ตามที่มีการแชร์กันในโซเชียลนั้น เกิดจากเมื่อวานช่วงบ่ายได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่หาดกะรน ฝนได้ชะล้างตะกอนที่อยู่ในท้องคลองบางลาขึ้นมาผสมกับน้ำฝนไหลลงสู่ทะเลตามภาพที่เห็นกันในโชเชียล แต่เมื่อฝนหยุดตกน้ำในคลองบางลาได้แห้งขอด ทำให้ในช่วงเช้าวันนี้ปัญหาดังกล่าวได้หมดไป สภาพน้ำที่ไหลลงทะเลเป็นน้ำใสที่ไม่มีตะกอนผสมลงไป ทำให้สภาพน้ำทะเลดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ทางเทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้วางแผนที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยในระยะเร่งด่วนได้นำรถแบ็กโฮมาขุดลอกตะกอนในคลองออกทั้งหมด ในระยะทางประมาณ 800 เมตร ซึ่งปกติก็มีการขุดลอกในทุกๆ ปีอยู่แล้ว หลังจากขุดลอกตะกอนแล้วเสร็จจะมีการแก้ปัญหาตะกอนไหลลงทะเลด้วยระบบดักตะกอน หรือเวสแลนด์ ในคลองบางลา เพื่อให้น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลเป็นน้ำใสที่ไม่มีตะกอนรวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ และทางเทศบาลมีงบประมาณที่จะดำเนินการอยู่แล้ว คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ล้านบาท
“ปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงระบบระบายน้ำของเทศบาลกะรน และไหลลงทะเลนั้น จากการสำรวจไม่พบแต่อย่างใด และจากการวัดค่าน้ำที่ไหลลงทะเลอยู่ในค่ามาตรฐานไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร อยู่ที่ประมาณ 12 มิลลิกรัมเท่านั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวาน เป็นเรื่องของกะตอนในคลองเท่านั้น” นายทวี กล่าวและว่า
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะต่อไปและระยะยาวนั้น ทางเทศบาลได้วางแผนในการขยายขีดความสามารถของบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ที่ซอยปฎัก 24 จากเดิมที่มีขีดความสามารถในการรองรับน้ำเสียได้วันละ 6,000 ลบ.ม.ให้สามารถรองรับได้วันละ 10,000 ลบ.ม.ขณะนี้มีงบประมาณในการดำเนินการแล้ว 54 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ แม้ว่าเทศบาลจะประกาศยื่นซองประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง และมีโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียระยะที่ 2 เพิ่มอีก วันละ 10,000 ลบ.ม.ได้ของบประมาณในส่วนของกองทุนสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 275 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับน้ำเสียในเขตพื้นที่กะรนได้อีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ด้าน ดร.วิภาวี ดำมี จากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางคณะเทคโนโลยีฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเล และต่อเนื่องมาจนถึงบนบก ซึ่งในส่วนของภูเก็ตนั้นได้โฟกัสไปที่ปัญหาน้ำเสียในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของภูเก็ต เช่น หาดป่าตอง กะรน กมลา เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ ได้ลงพื้นที่สำรวจในส่วนของป่าตอง และพบว่า ปัญหาน้ำเสียสีดำไหลลงสู่ทะเลที่กะรนเมื่อวานนี้เกิดจากกะตอนในท้องคลองเหมือนกับที่หาดป่าตอง ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการลอกตะกอนออกจากท้องคลอง หลังจากนั้น ก็จะใช้ระบบการเติมออกซิเจนลงไปในระบบการย่อยสลาย เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนมีสีดำ และไม่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการนำเสนอไปยังเทศบาลป่าตองแล้วด้วย