ทางออกนอกตำรา: ปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขุมทรัพย์ข้าใครอย่าแตะ (29 เม.ย. 61)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 19 เมษายน 2561
ทางออกนอกตำรา : ปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขุมทรัพย์ข้าใครอย่าแตะ
25 เมษายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ออกประกาศทีโออาร์เชิญชวน และพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) ให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) ภายหลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561
แหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งถือเป็นขุมทรัพย์ของประเทศไทย แหล่งเอราวัณและบงกช ส่งรายได้เข้ารัฐ ปี 2560 อยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ข้อมูลของกระทรวงพลังงานระบุว่าตลอดอายุสัญญาผู้สัมปทานขุดเจาะขุมทรัพย์ในอ่าวไทยจ่ายเงินเข้ารัฐได้แล้ว 4 แสนล้านบาท
สาระหลักของทีโออาร์มีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ชนะประมูล จะต้องผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณไม่ตํ่ากว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี จากสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี มีอายุสัญญา 20 ปี และสามารถต่อได้อีก 10 ปี
ผู้สนใจจะต้องยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561
เมื่อผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ถึงยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล ในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2561 และเข้าศึกษาข้อมูลได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน-21 กันยายน 2561 โดยผู้ยื่นประมูลจะต้องวางหลักทรัพย์ค่าเข้าดูข้อมูลพื้นฐาน (DATA Room) 7 ล้านบาทต่อแหล่ง
การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ซึ่งการให้นํ้าหนักด้านราคาก๊าซธรรมชาติมากถึง 65% และส่วนแบ่งกำไร 25% ดังนั้นผู้ที่สามารถขายก๊าซราคาตํ่าสุดจะได้รับคะแนนสูง
ผมถามคุณศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานได้ความว่า สาเหตุที่พิจารณาเรื่องราคาก๊าซมากกว่าส่วนแบ่งกำไรเข้ารัฐ มาจากหลักคิดที่ว่า ถ้าราคาก๊าซลดลง จะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้
รมว.พลังงานบอกผมว่า ถ้าราคาก๊าซลดลง 1 บาทต่อล้านบีทียู จะทำให้ค่าเอฟทีของค่าไฟที่ชาวบ้านเราๆท่านๆใช้อยู่จะลดลง 0.5 สตางค์ต่อหน่วย
นี่คือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการพิจารณาเงื่อนไขราคาก๊าซเป็นอันดับต้น คุณละเห็นอย่างไร
ใครก็ตามที่ชนะการประมูลไปถ้าหากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนด คือ เอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะโดนปรับ 10% และหากยังไม่สามารถผลิตได้ภายใน 1 ปี จะถูกยึดแบงก์การันตีซึ่งในทีโออาร์กำหนดไว้ว่าเงินการันตีนั้นที่แหล่งเอราวัณ 5,000 ล้านบาท แหล่งบงกช 3,500 ล้านบาท
ตอนแรกมีข่าวออกมาว่า ในแหล่งเอราวัณที่เชฟรอนเป็นผู้สัมปทานอยู่นั้น บริษัทที่จะมาเป็นตัวแปรในการยื่นประมูลแข่ง จะเป็นบริษัท มูบาดาลาฯ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานด้วยกันทั้งคู่
ขณะที่แหล่งบงกช ซึ่งบริษัท ปตท.สผ.ฯ เป็นผู้สัมปทานขุดเจาะนั้น ข้อมูลของผมนั้นชัดเจนมากว่า ถึงมีรายใหม่เข้ามาแข่ง “มือที่มองไม่เห็น” ต้องรักษาขุมทรัพย์แห่งนี้เพื่อให้ “พี่เทพ-PTTEP” บริษัทแห่งชาติของไทยเป็นผู้ดำเนินการเพราะนี่คือเทคโนโลยีของคนไทย และเป็น 1 ในยุทธการสร้างให้ตัวแม่คือบริษัท ปตท.ฯ บริษัทแห่งชาติของไทยเป็นบริษัทในกลุ่ม Trans National Corporation หรือเป็นธุรกิจปิโตรเลียมที่ไร้พรมแดน
ตอนที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ปรากฏว่า มีบริษัทที่สนใจเข้ามารับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูลแล้ว 5 ราย
รายแรกคือ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย)ฯ บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมฯ ในเครือ Mubadala Petroleum ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ขุดเจาะผลิตปิโตรเลียมรวม 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จาก 3 แหล่งในประเทศไทย คือ แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน ที่ซื้อมาจากบริษัท Harrods Energy คือ แปลง B5/27 ในอ่าวไทย ซึ่ง Pearl Energy เป็นผู้สำรวจพบ 2. บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด 3. Mitsui Oil Exploration Co.,Ltd. จากประเทศญี่ปุ่น 4. บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด 5. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ผมทราบมาว่า บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย)ฯ กลุ่มนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย กับกลุ่ม CNOOC (China National Offshore Oil Corporation) จากจีน กำลังจะเข้าประมูลอีก 2 ราย
เพราะขุมทรัพย์ในอ่าวไทย 5 แปลง มีพลังงานเหลืออีกมาก โดยเฉพาะ 3 แปลง (G2/55 4/55 5/55) เป็นแปลงที่มีศักยภาพปิโตรเลียมเนื่องจากเคยมีการเจาะพิสูจน์พบปิโตรเลียมแล้ว แม้จะเป็นแหล่งขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อหลุมก็ตาม
แปลง G1/55 A B เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงในรอบที่ 13 18 และ 19 เคยมีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน แบบ 2 มิติ ประมาณ 185 กิโลเมตร แต่ยังไม่เคยเจาะสำรวจเพื่อพิสูจน์
แปลง G2/55 พื้นที่ประมาณ 435 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลง B8/32 ที่ประมูลไปในรอบที่ 13 มีการเจาะสำรวจ 3 หลุม พบปิโตรเลียมทั้ง 3 หลุม แต่ไม่สามารถผลิตได้
แปลง G4/55 และ G5/55 ว่ากันว่ามีปิโตรเลียมแน่แต่จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 300-400 ล้านบาทต่อหลุม
ขุมทรัพย์ในอ่าวไทยจึงได้รับความสนใจมาก คนในกระทรวงพลังงานเขาบอกผมว่า “ใครครองปิโตรเลียม คนนั้นครองชาติ” อีกทั้งในการประเมินคร่าวๆ พบว่า ปิโตรเลียมในอ่าวไทยว่ากันว่ามีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านล้านบาท อีกทั้งในอดีตนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่าใครที่ควบคุมพลังงานได้ย่อมเป็นมหาอำนาจ
มหาอำนาจตะวันตก อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนแล้วแต่แสวงหาแหล่งพลังงาน มีการส่งบรรษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 7 แห่ง ไล่จาก เชฟรอน เอ็กซอนโมบิล เทคซาโก ก๊าซออยล์ บริติชปิโตรเลียม เชลล์ ออกไปขุดเจาะทั่วโลก
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นการไล่ล่านํ้ามันดุเดือดในทุกรูปแบบ หลายครั้งปรากฏการณ์สงครามปล้นบ่อนํ้ามันหน้าตาเฉย เช่น อเมริการุกรานอิรัก ยัน “อาหรับสปริง”
“พลังงานปิโตรเลียม-นํ้ามัน” จึงเป็นประเด็นสาธารณะที่ดุเดือดที่สุด
...................
คอลัมน์ | ทางออกนอกตำรา หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3361 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-2 พ.ค.2561 |เรื่อง ปิโตรเลียมในอ่าวไทย ขุมทรัพย์ข้าใครอย่าแตะ |โดย บากบั่น บุญเลิศ