จาก "วาฬสเปิร์ม" ถึงสัตว์น้ำ 700 ชนิด - ทุกชีวิตเสี่ยงถูก "ขยะทะเล" ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (3 พ.ค. 61)
Green News TV 3 พฤษภาคม 2561
จาก ‘วาฬสเปิร์ม’ ถึงสัตว์น้ำ 700 ชนิด ทุกชีวิตเสี่ยงถูก ‘ขยะทะเล’ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การค้นพบซากวาฬสเปิร์มซึ่งเสียชีวิตจากการกินขยะเมื่อเร็วๆ นี้ บ่งบอกว่ามนุษย์ต้อง “ลดการผลิตขยะทะเล” อย่างเร่งด่วน ก่อนที่สัตว์ทะเลจะสูญพันธุ์
ซากวาฬสเปิร์มดังกล่าวถูกพบเกยตื้นปริศนา บนชายหาดทางตอนใต้ของประเทศสเปนเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ผลการชันสูตรศพซึ่งเปิดเผยในต้นเดือน เม.ย. ระบุว่าเป็นวาฬหนุ่มเพศผู้ ขนาดยาวประมาณ 10 เมตร มีขยะอยู่ในระบบทางเดินอาหารถึง 29 กิโลกรัม
ขยะที่พบรวมถึง ขยะทั่วไป พลาสติก ถุงปุ๋ย เชือก แห และกลอง อันเป็นเหตุให้วาฬเสียชีวิตด้วยอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
ปกติวาฬสเปิร์มมีอายุขัยถึง 70 ปี พบได้ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ในน่านน้ำไทยเคยพบใน 3 จังหวัด ได้แก่ พังงา ภูเก็ต และสตูล อย่างไรก็ตามจำนวนวาฬสเปิร์มลดลงฮวบฮาบจนอยู่ในสถานะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการล่าและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเลโดยกิจกรรมของมนุษย์
“ขยะ” ได้กลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อวาฬในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีขยะพลาสติกมากกว่า 5 ล้านล้านชิ้น ลอยอยู่ในทะเลทั่วโลกขณะนี้ โดยพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 400 ปี นอกจากนี้ขยะพลาสติกในทะเลจะเพิ่มขึ้นจนมีน้ำหนักรวมมากกว่าน้ำหนักของปลาทั้งหมดในทะเลภายในปี 2593
แน่นอนว่า ซากวาฬสเปิร์มซึ่งค้นพบในประเทศสเปนไม่ใช่เหยื่อตัวแรกที่เสียชีวิตเพราะขยะพลาสติก
ในเดือน มี.ค. 2559 มีการพบซากวาฬสเปิร์ม 13 ตัวเกยตื้นในประเทศเยอรมันนี การชันสูตรศพพบว่าวาฬ 4 ตัวในนั้นมีขยะจำนวนมากในกะเพาะอาหาร เช่น แหจับกุ้งขนาดยาว 13 เมตร ชิ้นส่วนรถยนต์ และถังพลาสติก
ในช่วงต้นปีเดียวกันนั้น พบซากวาฬสเปิร์มมากกว่า 30 ตัวเกยตื้นอย่างปริศนาในประเทศแถบทะเลเหนือ (North Sea) ได้แก่ ประเทศสหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ค และเยอรมันนี
นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบซากวาฬสเปิร์มขนาด 8.8 ฟุตบนเกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนที่ผ่านมา แม้ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต ขยะยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุต้องสงสัย
เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มกรีนพีซฟิลิปปินส์ทำการติดตั้งหุ่นจำลองซากวาฬเกยตื้นบนหาดในทางตอนเหนือของประเทศ โดยมีขยะและขวดพลาสติกยัดที่ปากของหุ่น เพื่อสร้างความตระหนักว่าประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล
เพราะแม้ว่ามนุษย์จะรับรู้ว่าขยะพลาสติกทำให้เกิดผลเสีย แต่มนุษย์เพิ่งจะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกต่อระบบนิเวศน์และสัตว์ทางทะเลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น หลังจากขยะทะเลสามารถพบเห็นได้ทั่วไป และก่อผลกระทบต่อสัตว์น้ำจนเป็นที่ประจักษ์
การศึกษาโดย Plymouth University ในสหราชอาณาจักรชี้ว่าสัตว์ 700 ชนิดถูกคุกคามโดยขยะพลาสติก รวมทั้งเต่า นกทะเล วาฬ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ นอกจากนี้ สัตว์น้ำ 693 จาก 700 ชนิดดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรงจากขยะพลาสติก โดยสัตว์ 400 ชนิดโดนขยะพันหรือรัดตัว หรือมีขยะเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร
นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ขยะพลาสติกจะเป็นสาเหตุทำให้สัตว์บางประเภทสูญพันธุ์ ซึ่งสามารถเห็นได้แล้วในกรณีของวาฬสเปิร์มซึ่งต้องจบชีวิตก่อนวัยเจริญพันธุ์เพราะการกลืนกินขยะเข้าไปในร่างกาย