น้ำเสียไหลลงทะเล ไม่เร่งแก้ภูเก็ตวิกฤตแน่ ใครจะรับผิดชอบ(ชมคลิป) (3 พ.ค. 61)
MGR Online 3 พฤษภาคม 2561
น้ำเสียไหลลงทะเล ไม่เร่งแก้ภูเก็ตวิกฤตแน่ ใครจะรับผิดชอบ(ชมคลิป)
“น้ำเสียไหลลงทะเล” อีกหนึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง และหนักขึ้นทุกวัน ตามตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ขยับเพิ่มในทุกๆปี จนปัจจุบันทะลุ 14-15 ล้านคน เหมือนเงาตามตัวสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ
น้ำเสียไหลลงทะเลเกิดขึ้นทั่วทั้งเกาะภูเก็ต และเกิดขึ้นมาโดยตลอดในหลายๆ พื้นที่ ทั้งหาดสุรินทร์ หาดกมลา ป่าหาดตอง หาดกะรน หาดไตรตรัง เกาะราชา และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นที่หาดชื่อดัง และมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ยิ่งในโลกโซเชียลอย่างปัจจุบัน ภาพน้ำเสียไหลลงทะเลได้สร้างความเสียหายให้แก่เกาะภูเก็ตเป็นอย่างมาก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวน้ำเสียสีดำๆ ไหลลงทะเลถูกแชร์ออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมไม่พอ ยังสร้างความเสียหายด้านภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกของภูเก็ตอีกด้วย
ล่าสุด ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก และแชร์กันสนั่นกันในโซเชียล ที่หาดป่าตอง และหาดกะรน ก็ต้องเผชิญต่อวิกฤตน้ำเสียสีดำๆ ไหลลงทะเล จากก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนปัญหาก็เกิดขึ้นที่หาดไตรตรัง และหาดสุรินทร์
โดยที่หาดป่าตองนั้น เป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญต่อปัญหาน้ำเสียสีดำไหลลงทะเลครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าเทศบาลเมืองป่าตอง เจ้าของพื้นที่จะหาแนวทางในการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ น้ำเสียสีดำจากคลองปากบาง ไหลลงทะเลหาดป่าตอง ที่จุดบริเวณสะพานคอรัล ทางไปหาดไตรตรัง เป็นน้ำเสียที่ดำ และมีกลิ่นเหม็น สร้างความเสียหายต่อน้ำทะเล และเมืองท่องเที่ยวอย่างหาดป่าตองเป็นอย่างมาก
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ได้เรียกเทศบาลเมืองป่าตอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประชุมหารือถึงปัญหา และแนวทางการแก้ไข ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า น้ำเสียสีดำที่ไหลลงทะเลเกิดจากตะกอนในท้องคลองปากบาง ที่หมักหมมเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่ได้มีการขุดลอกมาเป็นเวลา 2 ปี จากที่เทศบาลเมืองป่าตอง ไม่สามารถตั้งงบประมาณขุดลอกตะกอนเหมือนที่ผ่านๆ มาได้ เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดสรรงบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท ดำเนินโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองป่าตอง ซึ่งเนื้องานดังกล่าวได้รวมการขุดลอกตะกอนในท้องคลองปากบางไว้ด้วย หากเทศบาลเข้าดำเนินการจะเกิดการซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ
ทำให้ทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก ฝนจะชะล้างตะกอนในท้องคลองขึ้นมาผสมกับน้ำฝนไหลลงทะเล ทำให้น้ำทะเลในบริเวณนั้นดำสนิท และนอกจากนี้ ที่หาดไตรตรัง ก็มีปัญหาน้ำเสียที่ล้นจากระบบไหลลงทะเลเช่นกัน
น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เทศบาลไม่ได้ขุดลอกตะกอนในท้องคลองปากบาง จากที่ติดปัญหาโครงการแก้น้ำท่วมของกรมโยธาฯ แต่อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้รับจ้างโครงการฯ ทางเทศบาลจะขอตัดเนื้องานในส่วนของการขุดลอกตะกอนมาดำเนินการเอง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หากปล่อยไว้เมื่อฝนตกลงมาตะกอนก็จะถูกชะขึ้นมาผสมกับน้ำฝนไหลลงทะเลเหมือนที่ผ่านมา การแก้ปัญหาก็จะไม่จบ เทศบาลจะเข้าดำเนินการในเร็วๆ นี้ก่อนที่เข้าสู่หน้าฝน น่าที่จะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ระบุว่า ปัญหาของตะกอนเกิดจากน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด เทศบาลเอาจริงต่อเรื่องนี้ โดยใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่อผู้ที่ลักลอบปล่อยน้ำเสีย ได้ตั้งทีมงานออกสำรวจในถนน 3 สาย ถนนเลียบวัด น้ำตกวังขี้อ้อน และถนนผังเมืองสาย ก พบยังมีสถานประกอบการ ทั้งโรงแรม ร้านค้า อาหาร และบ้านเรือนอีก 40-50 ราย ปล่อยน้ำเสียลงสู่ท่อระบายน้ำของเทศบาล ได้สั่งให้แก้ไข หากครบกำหนดเวลายังดื้อดึง เทศบาลจะปิดท่อระบายน้ำในสถานประกอบการนั้นทันที พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด เพราะหากปล่อยไว้ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ เทศบาลมีแผนที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีกในเฟสที่ 4 ที่จะเสร็จภายในปีนี้ และวางแผนสร้างเพิ่มในเฟสที่ 5 ปัจจุบัน ระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองป่าตองสามารถรองรับน้ำเสียวันละ 22,000 ลบ.ม. แต่ในช่วงไฮซีชันจะเพิ่มเป็น 27,000-30,000 ลบ.ม.ซึ่งระบบที่มีอยู่สามารถบำบัดได้ 20,000 ลบ.ม. เมื่อระบบบำบัดเฟสที่ 4 แล้วเสร็จก็จะสามารถรองรับเพิ่มได้อีก 9,000 ลบ.ม.ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด จากขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่ 80% ของป่าตอง แต่ปัญหาอยู่ที่ป่าตองเติบโตขึ้นทุกวัน
ปัญหาที่หาดป่าตองยังไม่ทันได้รับการแก้ไข ภูเก็ตก็ดังกระฉ่อนอีกครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อมีการแชร์ภาพน้ำเสียสีดำไหลลงทะเลที่หาดกะรน อีกหนึ่งหาดชื่อดังของภูเก็ต เกาะสวรรค์ ปัญหาไม่ต่างกัน สาเหตุเดียวกัน คือ ตะกอนในท้องคลองบางลา ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากชุมชนกะรน ถูกฝนที่ตกหนักชะล้างตะกอนที่หมักหมมผสมกับน้ำไหลลงทะเล ทำให้น้ำทะเลในบริเวณนั้นดำและมีกลิ่นเหม็นในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก แต่เมื่อฝนหาย ตะกอนไม่ไหลลงมา น้ำทะก็กลับสู่สภาพปกติ สีครามสวยงาม เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวลงไปเล่นเหมือนเดิม
การแก้ปัญหาก็ไม่ต่างกัน เทศบาลตำบลกะรน ขุดลอกตะกอนทันที ในระยะทาง 800 เมตร ตั้งแต่ต้นคลองไปจนถึงปลายคลองที่เชื่อมกับชายหาด พร้อมวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว ภายหลังขุดลอกตะกอนแล้วเสร็จ จะทำระบบดักตะกอน หรือเวสแลนด์ ในคลองบางลา และเติมระบบออกซิเจนในกระบวนการย่อยสลาย
ระยะยาว มุ่งไปที่การทำระบบบำบัดน้ำเสีย ได้จัดสรรงบประมาณ 54 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสียวันละ 10,000 ลบ.ม. และมีโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียระยะที่ 2 เพิ่มอีก วันละ 10,000 ลบ.ม.ได้ของบประมาณในส่วนของกองทุนสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 275 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับน้ำเสียในเขตพื้นที่กะรนได้อีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี
การขุดลอกตะกอนออกจากท้องคลอง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่า ปัญหาน้ำเสียไหลลงทะเลเป็นเรื่องที่วิกฤตสำหรับเกาะภูเก็ต เกิดขึ้นทั่วทั้งเกาะ หากปล่อยไว้ปัญหาก็จะรุกลาม และยากในการวางแผนแก้ไข จึงได้สั่งการให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ ได้สั่งการให้ขุดลอกตะกอนในท้องคลองทุกพื้นที่ และโดยเฉพาะคลองที่รับน้ำจากชมุชนแล้วเชื่อมไหลลงทะเล เพื่อดักไม่ให้ตะกอนไหลลงทะเล
และมองว่าการวางแผนแก้ปัญหาน้ำเสียนั้นจะต้องวางแผนรองรับในระยะยาว จึงได้มีการจัดทำแผนแม่บทในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียทั่วทั้งเกาะภูเก็ต โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา ให้เป็นระบบที่เชื่อมโยงกันในทุกพื้นที่ กำหนดเป็นกลุ่มๆ มีบ่อพักน้ำย่อยๆ บ่อบำบัดรวม และมีระบบท่อน้ำเสียเหมือนระบบท่อของการประปาที่ต่างประเทศใช้กัน ซึ่งตอนนี้ได้มอบหมายให้ทุกท้องถิ่นดำเนินการ บางท้องถิ่นมีการจัดตั้งงบประมาณ ซื้อที่ดิน เตรียมที่ดินที่จะก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียบ้างแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าอีก 3 ปี จากนี้ ภูเก็ตจะมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ปัญหาน้ำเสียไหลลงทะเลก็จะค่อยๆ หมดไป
ปัญหาน้ำเสียจะปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าของพื้นที่แต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ชาวภูเก็ตทุกๆ คนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ สร้างจิตสำนึกในการดูแลรับผิดชอบร่วมกัน ก่อนที่วิกฤตจะมาเยือน