นักเศรษฐศาสตร์ประเมินโอกาส ข้อจำกัด ความเสี่ยง EEC (6 พ.ค. 61)
ประชาไท 6 พฤษภาคม 2561
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินโอกาส ข้อจำกัด ความเสี่ยง EEC
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินโอกาส ข้อจำกัดและความเสี่ยงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการลงทุนใน EEC ชี้มีแนวโน้มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อาจเกิดความแออัดและการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบให้เกิดมลพิษต่างๆ ต่อชุมชนโดยรอบได้
6 พ.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นถึงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและ การลงทุนใน EEC ว่า นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนั้นต้องไม่มุ่งเพียงแค่การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มทุนในประเทศโดยละเลยในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวบนฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเอง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ที่จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นและเติบโตในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม เรามีข้อจำกัดเรื่องทักษะแรงงาน ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง จึงขอเสนอให้มีกฎระเบียบ กลไกและระบบในการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างชัดเจน การพัฒนาจัดตั้งศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและการลงทุนในพื้นที่ EEC จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยไม่ชักช้า การกระหายอยากได้การลงทุนจากต่างชาติต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลโดยไม่เสนอให้สิทธิพิเศษและผลประโยชน์มากจนเกิดต้นทุนต่อประเทศในระยะยาวและคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะสิทธิในการเช่าที่ดินและถือครองที่ดิน 99 ปี ควรต้องมีการทบทวน และ ไม่มีประเทศอาเซียนประเทศไหนที่ให้เช่าที่ดินหรือถือครองที่ดินยาวนานขณะนั้น ส่วนใหญ่จะให้เช่าที่ดินเพียง 50 ปี โดยภาพรวม สิทธิประโยชน์ในการลงทุนใน EEC สามารถแข่งขันได้กับทุกประเทศในเอเชีย ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการถือครองที่ดินโดยนักลงทุนต่างชาติถึง 99 ปีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ
แน่นอนว่าการลงทุนใน EEC ย่อมส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพมูลค่าประมาณ 7.13 แสนล้านบาท ใช้เงินงบประมาณรัฐบาลราว 21% งบประมาณจากรัฐวิสาหกิจราว 12% ส่วนกว่า 60% ที่เหลือเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนและเอกชนลงทุนโดยตรง ในส่วนของการใช้งบประมาณของรัฐต้องพิจารณาถึงการกระจายความเจริญไปยังส่วนอื่นๆของประเทศด้วย ส่วนโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังได้รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพครั้งใหญ่นี้จะไม่นำไปสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคตและการลงทุนเกินความต้องการก็ต่อเมื่อโครงการ EEC ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และสิ่งที่เป็นหลักประกันความสำเร็จ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับดู ความต่อเนื่องของนโยบายและและเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
นักลงทุนใน EEC ได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 2560 กฎหมายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ พระราชบัญญัติ EEC เมื่อให้สิทธิพิเศษมากเช่นนี้ผ่านกฎหมายใหม่ๆที่เพิ่งออกมา เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงควรกำหนดรูปแบบของการใช้สิทธิประโยชน์ตามความสำคัญคุณค่าของโครงการ (Merit-Based Incentives) ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและความกินดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ และพิจารณาประเภทของกิจการ (Activity-Based Incentives) เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือไม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความสำคัญต่อพื้นที่ EEC ในการสร้างอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีดิจิทัลนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น
มีแนวโน้มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ EEC อาจเกิดความแออัดและการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบให้เกิดมลพิษต่างๆ ต่อชุมชนโดยรอบได้ คุณภาพชีวิตที่แย่ลงและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รัฐจำเป็นต้องออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลคุณภาพชีวิตและค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่ สภาพการจ้างงาน รวมทั้งการให้สัมปทานกลุ่มทุนในโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบและโปร่งใส ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในเตรียมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและกระบวนการฝึกอบรมทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ในอนาคต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจะได้เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น และ ต้องตระหนักด้วยว่า เราไม่ควรแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการลงทุนของต่างชาติ กับ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของผู้คน ตลอดจนการยอมเป็น “สภาพกึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของทุนข้ามชาติโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น