เคลียร์ประเด็นซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนราคาถูก เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟรับภาระ (9 พ.ค. 61)
energynews 9 พฤษภาคม 2561
เคลียร์ประเด็นซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนราคาถูก เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟรับภาระ
เคลียร์ประเด็นรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ราคาถูก เพื่อไม่ให้ประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พร้อมปรับแผนพีดีพี แก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ โดยเฉพาะกำลังการผลิตที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะมีการนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid)เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะต้องมีต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่สูงไปกว่า2.40 บาทต่อหน่วย เพื่อต้องการที่จะเคลียร์ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก่อนหน้านี้ รวมทั้งภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งนโยบายการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านมา นั้นเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที ที่จัดเก็บกับประชาชน อยู่ประมาณ 25สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)นำประเด็นดังกล่าวไปปรับปรุงและรวมอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan –PDP) ฉบับใหม่ หรือPDP2018 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนพีดีพี ดังกล่าวไปเมื่อการประชุมวันที่ 23เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวกล่าวว่า นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะมีปัญหา เนื่องจากส่วนใหญ่ เป็นการรับซื้อจากโครงการขนาดเล็กต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่กระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับการวางแผนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้หลายโครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ เพราะไม่มีสายส่งไฟฟ้ารองรับ ดังนั้น รัฐจึงต้องมีการปรับแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG) และรองรับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะมีการนำมารวมอยู่ในแผนพีดีพี2018
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการรายงานถึง สถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้ที่ประชุม กพช.ทราบแล้ว พร้อมกับการรายงานความคืบหน้าเรื่องแผนพีดีพี 2018 โดยข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 นั้นมีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,296 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้ง 9,855 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากเทียบกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแผน AEDP2015 ปี 2579 จำนวน 16,778 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต จากพลังงานหมุนเวียน จะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.55 ของเป้าหมาย AEDP ยังมีส่วนที่เหลือจากเป้าหมาย 6,351 เมกะวัตต์ โดยเชื้อเพลิงขยะจากชุมชนคงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 139 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 12 เมกะวัตต์ ชีวมวล คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 944 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 777 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก คงเหลือ 285 เมกะวัตต์ พลังงานลม มีโครงการผูกพันกับ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 1,480 เมกะวัตต์ และ พลังงานแสงอาทิตย์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 2,715 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวกล่าวว่า นโยบายของรัฐมนตรีพลังงานที่ยืนยันกับตัวแทนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้า นั้น เห็นว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากเป้าหมายที่เหลืออยู่ นั้น จะต้องมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 2.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาต้นทุนขายส่งของ กฟผ. เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดทั้งแผนพีดีพี 2018 นั้น สูงกว่าค่าไฟฟ้าที่ประชาชนใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำแผนพีดีพี2018 ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2561 นั้น ขณะนี้ ทางสนพ.อยู่ในระหว่างการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น (Open Forum) และรับทราบข้อแนะนำจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นักวิชาการ คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ตลอดจนภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ต่อไป เพื่อให้แนวทางการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่เป็นไปตามหลักการสำคัญที่ประชุม กพช. ได้ให้ไว้ ภายใต้เสาหลัก 3E ได้แก่ 1. Energy Security ด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า 2. Economic ด้านเศรษฐกิจ3. Environmental Friendly ด้านสิ่งแวดล้อม